“SEO Keyword” ถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่คนทำ SEO จะต้องเริ่มต้นศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะนี่ถือเป็นด่านสำคัญมาก หากคุณเริ่มต้นวางแผน Keyword Research ผิด แน่นอนว่า การทำอันดับบน Search Engine ก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน
ดังนั้น วันนี้ผมจึงอยากจะมาปูพื้นฐานของทุกคนให้แน่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำความเข้าใจในเรื่องของ Keyword ในประเด็นต่างๆ เช่น Keyword คืออะไร ทำไมต้องหา จะใช้ยังไง หรือจะปรับปรุง Keyword ยังไงให้ดีขึ้น ซึ่งหากคุณเป็นมือใหม่ที่กำลังเริ่มต้นทำ SEO ห้ามพลาดบทความนี้ เพราะผมจัดมาให้คุณแบบแน่นสุดๆ โดยรวมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Keyword ไว้ในบทความเดียว! ถ้าหากพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าครับ 🙂
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- Keyword คืออะไร
- ทำไมการหา Keyword จึงสำคัญ
- การแสดงผลของ Keyword บนหน้า Search Engine
- ประเภทของ Keyword
- วิธีการค้นหา Keyword
- วิธีการเลือกใช้ Keyword
- วิธีการปรับปรุง Keyword
- สรุป
Keyword คืออะไร
Keyword คือ คำหรือวลีที่ใช้ในการค้นหาบนระบบ Search Engine อย่างเช่น Google, Yahoo, Bing โดยคนส่วนใหญ่มักจะพิมพ์สิ่งที่ต้องการ สงสัย อยากรู้คำตอบ หรืออาจจะเป็นปัญหาบางอย่างลงไป ซึ่งหลังจากทำการเสิร์ช “คำค้นหา หรือ Keyword” นั้นๆ แล้ว Search Engine จะทำการแสดงผลลัพธ์ของการค้นหาขึ้นมาให้ โดยผลการค้นหาในหน้า 1 ที่ว่านี่แหละครับ คือผลลัพธ์ของการทำ SEO โดยการใช้ Keyword ที่ประสบความสำเร็จและถูกจัดอันดับว่า เกี่ยวข้องและมีประโยชน์สำหรับผู้ใช้งานจนทำให้อันดับ SEO ทะยานขึ้นสู่หน้า 1 ได้นั่นเอง
ทำไมการหา Keyword จึงสำคัญ
เพราะ Keyword จะเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการจากการเสิร์ชจนมาเจอกับเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้น
อย่างเช่น เว็บไซต์ nerdoptimize.com ของพวกเรา ทำคอนเทนต์และบริการเกี่ยวกับด้านการทำ Digital Marketing การที่กลุ่มเป้าหมายใช้ Keyword ที่เกี่ยวข้อง เช่น รับทำ SEO , รับยิง Facebook Ads แล้วมาเจอเว็บไซต์ของเรา เท่ากับว่า ในแต่ละเดือน เราจะได้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่สนใจในเรื่องของการทำ Digital Marketing ในเรื่องนั้นๆ มาไว้ในมือ ซึ่งข้อมูล Traffic เหล่านี้ ฝ่ายการตลาดสามารถนำไปต่อยอดจนกลายเป็น Conversion ที่ต้องการได้ด้วย
ดังนั้น หากคุณกำหนด Keyword ได้ถูกต้องตั้งแต่แรกก็ย่อมทำให้พบเจอกับกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในสินค้าหรือบริการของคุณได้ง่ายๆ เลยครับ
การแสดงผลของ Keyword บนหน้า Search Engine
สำหรับการแสดงผลลัพธ์จากการค้นหา Keyword บนหน้า Search Engine อย่างเช่น Google นั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบครับ คือ
1. PPC (Pay Per Click)
หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันว่าเป็นการทำโฆษณา Google Ads ซึ่งเป็นการทำ Paid Search โดยจ่ายเงินไปเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณาตามจำนวนครั้งที่ผู้ใช้คลิกโฆษณาเพื่อเข้าไปชมในเว็บไซต์ (Pay Per Click : PPC) ผ่านการสร้างแคมเปญโฆษณาตาม Keyword ที่เราวางแผนไว้
ซึ่งผลของการโฆษณาจะแสดงขึ้นมาบนหน้า Search ในตำแหน่งแรกๆ (บางจุดจะอยู่เหนือพื้นที่การทำ SEO) มีข้อดีคือทำให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เลยในทันที ไม่ต้องใช้เวลารอนานเหมือนกับการทำ SEO
2. Search Engine Optimization (SEO)
เป็นวิธีการทำให้เว็บไซต์ติดอันดับผลการค้นหาแบบ Organic Search แบบไม่เสียเงินในการซื้อโฆษณา แต่คุณต้องทำการปรับแต่งเว็บไซต์ให้มีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่ Google กำหนด ซึ่งถ้าหากคุณสามารถทำได้ และ Google มองว่าเว็บไซต์หน้านั้นๆ ของคุณตรงตามเงื่อนไข จนเรียกได้ว่า มีคุณภาพมากที่สุดสำหรับ Keyword นั้นๆ ก็จะได้รับการจัดอันดับขึ้นบนหน้า Google ในตำแหน่งสูงๆ ซึ่งก็ทำให้คุณมีโอกาสได้ Traffic แบบฟรีๆ มามากขึ้นอีกด้วย
อ่านบทความเกี่ยวกับการทำ SEO เพิ่มเติมได้ที่ >> SEO คืออะไร ? รวมทุกอย่างที่คุณต้องรู้ของการทำ SEO
ประเภทของ Keyword
ก่อนที่คุณจะทำการหา Keyword ที่เหมาะสมจนทำอันดับสูงๆ บนหน้า Search Engine ได้นั้น สิ่งแรกที่คุณต้องเรียนรู้เลยก็คือ ประเภทของ Keyword โดยผมจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
- Mass keyword หรือ Head Terms
- Niche keyword หรือ Body Keywords
- Long-tail keyword
Mass keyword หรือ Head Terms
Mass keyword หรือ Head Terms คือ คำที่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ หรือเป้าหมายของเว็บไซต์ แต่จะเป็นคำกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจง และมีปริมาณการค้นหาสูง เช่น ถ้าคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับ Gadget ก็อาจจะเป็นคำว่า มือถือ เป็นต้น ซึ่ง Keyword เหล่านี้แม้จะมีปริมาณค้นหาสูง แต่ก็มีคู่แข่งเยอะ แถมยังทำอันดับได้ยาก ส่วนใหญ่จึงมักใช้เป็น Keyword ตั้งต้นเพื่อนำไปสู่ Keyword อื่นๆ ที่สามารถทำอันดับและทำเงินให้กับเว็บไซต์ได้มากกว่า
Niche keyword หรือ Body Keywords
Niche keyword หรือ Body Keywords คือ คำค้นหาที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่บ่งบอกหมวดหมู่ ประเภท ซึ่งสามารถหยิบมาทำเป็นหมวดหมู่ของเว็บไซต์ได้ เช่น หาก Mass keyword ที่ใช้คือ มือถือ ที่เจาะจงมากขึ้นก็อาจจะเป็น “มือถือ samsung” “มือถือ xiaomi” เป็นต้น ซึ่งคำในกลุ่มนี้จะมีปริมาณค้นหาที่น้อยลงมาจาก Mass keyword แต่ก็มีโอกาสติดอันดับ และเปิดโอกาสให้ขายสินค้าได้มากขึ้นด้วย
Long-tail keyword
Long-tail keyword คือ คำค้นหาที่เจาะจงมากๆ มีการระบุชัดเจนว่า สินค้า บริการ หรือเป้าหมายคืออะไร เช่น เป็นเว็บไซต์ขายมือถือ ก็ระบุชัดเจนในหน้าเว็บไซต์นั้นด้วย Keyword ที่ระบุทั้งชื่อยี่ห้อ และรุ่น อย่าง “มือถือ iphone 12 pro max มือสอง” โดยคำค้นหาเหล่านี้มักจะมีปริมาณค้นหาที่น้อยลงมาอีก แต่ผู้ที่ค้นหาก็มักจจะสนใจในสินค้าหรือบริการเหล่านั้นจริงๆ จึงเป็น Keyword ที่นิยมใช้ทำเงินมากที่สุด
วิธีการค้นหา Keyword
- การใช้ Keyword Research Tools
มาถึงวิธีการค้นหา Keyword หรือที่เรียกว่า การทำ Keyword Research ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือประเภท Keyword Research Tools ในการวิเคราะห์ปริมาณการค้นหา ความยากง่ายในการทำ SEO ของแต่ละ Keyword คุณภาพของคีย์เวิร์ด และต้นทุนค่าเฉลี่ยในการโฆษณา (Cost Per Click) ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เสียเงินและใช้ได้ฟรี เช่น
- โปรแกรมหา Keyword ฟรี เช่น Google Keyword, Planner, Google Trends, Ubersuggest, Keywordtool.io
- โปรแกรมหา Keyword แบบเสียเงิน เช่น Ahrefs, Moz, SEMrush, KWFinder
ซึ่งผมเคยทำรีวิวเครื่องมือเหล่านี้แบบละเอียดไว้แล้วที่ แนะนำโปรแกรมหา Keyword [ฟรี+เสียเงิน] เพื่อการทำ SEO อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคลิกเข้าไปเลือกใช้ตามความถนัดกันได้เลยครับ ส่วนวิธีการใช้งานส่วนใหญ่ก็จะเริ่มจากการใส่ keyword ที่ต้องการลงไป ซึ่ง Keyword ที่นำมาใส่นั้นอาจจะเป็น Keyword ตั้งต้น ประเภท Mass keyword หรือ Head Terms ได้เลยครับ
หลังจากนั้นให้ทำการเสิร์ชค้นหาในโปรแกรมหา Keyword หลังจากนั้นโปรแกรมก็จะทำการแสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดหลักที่ใส่ลงไป มาให้วิเคราะห์ต่อครับว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ค้นหาส่วนใหญ่คนค้นหาด้วยคำว่าอะไรบ้าง แล้วนำมาคัดเลือกต่อไปครับ
- การค้นหาจาก Idea Keyword
สำหรับใครที่เป็นมือใหม่มากๆ ใช้เครื่องมือยังไม่คล่อง (หรือใช้โปรแกรมค้นหา Keyword ฟรี ซึ่งบางตัวมีการจำกัดจำนวนการค้นหาต่อวัน) อาจจะลองค้นหาจาก Idea Keyword โดยอาจจะตั้งต้นง่ายๆ ตามขั้นตอน ดังนี้
- คิดจากธุรกิจ โดยเลือก Keyword ที่เกี่ยวกับธุรกิจมา เช่น รองเท้าวิ่ง, รองเท้ากีฬา เป็นต้น
- คิดจาก Target ด้วยการนำ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมาจับกับ Demographic และความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งอายุ เพศ รายได้ ความสนใจ ฯลฯ เช่น เป็นร้านขายรองเท้าวิ่ง สิ่งที่เป้าหมายจะสนใจอาจจะเป็น “วิธีเลือกรองเท้าวิ่ง” “รองเท้าวิ่งยี่ห้อไหนดี” ซึ่งนี่คือ Idea Keyword ที่สามารถนำไปค้นหาต่อได้
- แตก Keyword โดยการนำ Idea Keyword มาค้นหาบน Google แล้วเลื่อนลงไปด้านล่างสุดของผลลัพธ์การค้นหา คุณจะเห็น Related searches ซึ่งคุณสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อด้วยโปรแกรมหา Keyword หรือนำมาใช้เป็นไอเดียในการทำคอนเทนต์ได้เลยครับ
วิธีการเลือกใช้ Keyword
- เลือกจาก Metrics พื้นฐาน
ขั้นตอนแรกเลยก็คือการคัดเลือกจาก Metric ที่เป็นตัวชี้วัดจาก Keyword Research Tools ซึ่งจะมี Metrics พื้นฐานที่ควรรู้จักไว้ ดังนี้
- Search Volume คือ จำนวนการค้นหา Keyword ต่อเดือน ซึ่งคุณจะต้องเลือกคีย์เวิร์ดที่ตรงกับสินค้าหรือบริการของของคุณก่อนเป็นอันดับแรก และไม่ควรมีปริมาณของ Search Volume ที่น้อยเกินไป (ในช่วงแรกแนะนำให้หาคำที่มี Search Volume ประมาณ 1,000 ขึ้นไปก่อนครับ)
- Cost per Click (CPC) คือ ราคาที่ต้องจ่ายต่อคลิก สำหรับคนที่ทำการซื้อโฆษณาบน Search Engine ซึ่งถ้าหากคำนั้นมีมูลค่า CPC สูงก็อาจหมายความว่าเป็น Keyword ที่คนนิยมซื้อเพราะทำ Conversion ได้ แต่ก็อาจจะต้องประเมินด้วยว่า Keyword นั้นเป็น Keyword ที่จะทำเงินให้กับธุรกิจของคุณด้วยหรือไม่ก่อนจะทำการเลือกมาใช้ในการทำ SEO
- Keyword Difficulty (KD) คือ ความยากง่ายในการแข่งขันของ Keyword แบบ Organic ยิ่งค่าสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งแข่งขันยาก ดังนั้น ให้ดูว่าคีย์เวิร์ดที่เลือก มีการแข่งขันที่สูงไหม ถ้าดู Top 10 ในหน้าแรกของ Google แล้วพบว่า มีจำนวนคู่แข่งสูง อาจจะหันไปโฟกัสที่คีย์เวิร์ดตัวอื่นก่อนครับ ค่อยกลับมาลุยตัวที่การแข่งขันสูงๆ ทีหลัง
- เลือกจาก Search Intent
หลังจากคัดเลือก Keyword ด้วย Metric มาได้มากพอสมควรแล้ว ให้ลองนำคีย์เวิร์ดเหล่านั้นมาทำการค้นหา Search Intent เพื่อดูว่า คีย์เวิร์ดที่ต้องการทำอันดับมีผลการค้นหาเป็นแบบไหน สามารถใช้คอนเทนต์เพื่อไปอยู่อันดับต้นๆ ได้ไหม ซึ่งถ้าหากคุณต้องการสร้างคอนเทนต์สำหรับขายของ แต่ว่าคีย์เวิร์ดที่เลือกมานั้นมักเป็นคอนเทนต์รีวิวการใช้งาน แนะนำ หรือให้ข้อมูล การทำอันดับก็อาจจะเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ก็มีบาง Keyword ที่หน้าแรกของผลการค้นหาเป็น VDO จาก Youtube ทั้งหมด การสร้างคอนเทนต์บนเว็บไซต์เพื่อให้ติด ก็จะไม่เหมาะสมเท่ากับการสร้าง VDO Content ด้วยครับ
- เลือกจาก Buyer’s Keywords
เมื่อคุณรู้แล้วว่า ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายคืออะไร และธุรกิจของคุณต้องการขายอะไร Keyword ในกลุ่มแรกที่เลือกทำ (และต้องไม่ได้แข่งขันยากมากจนเกินไป) ก็อาจจะเป็นกลุ่ม Buyer’s Keywords หรือคำที่คนมักใช้ในการหาเพื่อตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น ราคา, ที่ไหนดี, รับทำ, รับสอน, ชื่อแบรนด์, รีวิว ซึ่งคนที่ค้นหาคำเหล่านี้มักจะตามหาสินค้าหรือบริการ รวมถึงอาจจะรู้จักธุรกิจของคุณอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้สามารถปิดการขายได้ง่ายด้วย
วิธีการปรับปรุง Keyword
สำหรับใครที่ทำ SEO มาสักพักแล้ว แต่อันดับก็ยังไม่ดี นี่อาจจะถึงคราวที่คุณจะต้องทำการปรับปรุง Keyword บนหน้าเว็บไซต์ให้ดีขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นการ Optimize ส่วนของ On-Page ที่เป็นส่วนสำคัญของการทำ SEO Audit อีกด้วย โดยมีวิธีการปรับปรุง Keyoword ในส่วนต่างๆ ให้ดีขึ้น ดังนี้
- ใส่ Meta title และ Meta Description ให้ตรงกับ Keyword
- แต่ง URL ให้เป็นมิตร และควรใส่ Keyword in URL ที่เกี่ยวข้องกับหน้านั้นๆ ลงไปด้วย
- ใส่ Keyword ลงไปใน Heading (H1) Subheadings (H2) หรือส่วน Body ของหน้าเว็บไซต์ แต่ไม่ใช่การสแปมคีย์เวิร์ดนะครับ ควรใส่ลงไปอย่างเป็นธรรมชาติ
- ใส่ long-tail keywords ลงไปในหน้าเว็บไซต์
แต่ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมย้อนกลับไปดู Search Intent และผลลัพธ์การค้นหาของ Keyword นั้นๆ ด้วยนะครับว่าเป็นผลลัพธ์ประเภทใด ยกตัวอย่างเช่น คีย์เวิร์ดคำว่า Backlink ผลการค้นหาส่วนใหญ่คือ Blog Post สำหรับให้ความรู้ และตอบคำถามในทำนองเดียวกันว่า Backlink คืออะไร
ถ้าหากคุณต้องการทำอันดับให้ดีขึ้น คุณอาจจะต้องทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ข้อสงสัยเกี่ยวกับ Backlink ให้ครอบคลุมกว่าให้หัวข้อย่อยที่คอนเทนต์ติดอันดับทำได้ เช่น
- Backlink คืออะไร
- ประเภทของ Backlink
- วิธีการทำ Backlink
ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างของคอนเทนต์ให้สมบูรณ์มากขึ้น และช่วยในการเก็บ Keyword ได้ครอบคลุมมากขึ้น แน่นอนว่า หากคุณทำได้ดีกว่า ก็ย่อมทำให้หน้าเว็บไซต์มีโอกาสทำอันดับที่สูงขึ้นได้ในคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ
สรุป
เป็นยังไงบ้างครับกับความรู้เรื่อง Keyword ที่นำมาฝากกันในบทความนี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยเลยใช่ไหมครับสำหรับการทำ SEO แต่ก็อย่าลืมนะครับว่านี่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณมีโอกาสทำอันดับที่ดีขึ้นได้ ยังมีอีกหลายเรื่องเลยครับที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งถ้าคุณสนใจสามารถเข้าไปดูเนื้อหาแน่นๆ สอนแบบครบๆ จากผมได้เลยที่ สอน SEO ฟรี – ศูนย์กลางเรียน SEO WordPress ชนิดทำคอร์สได้เลย [2022] แล้วเจอกันในบทความหน้านะครับ สวัสดีครับ! [/col] [/row]