อยากทำ SEO Content ให้มีประสิทธิภาพ นอกจากจะเน้นเทคนิคการทำ On-Page SEO ให้แข็งแรงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนทำคอนเทนต์จะต้องให้ความสำคัญเลยก็คือ การเข้าใจเรื่องของ Search Intent เพราะนี่คือแก่นแท้ที่จะทำให้นักเขียนสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ตรงใจของผู้อ่านได้มากที่สุด
Search Intent นั้นไม่ใช้กลวิธีการเขียนที่นักเขียนจะใช้ในการเล่าเรื่อง ไม่ใช่เทคนิคการใช้ภาษา แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจพฤติกรรมและวิธีการใช้งาน Search Engine อย่าง Google ของกลุ่มเป้าหมาย
และสำหรับใครที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับ Search Intent หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักว่า Search Intent คืออะไรตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจคอนเซปต์เสียก่อน แล้วเราจะบอกว่าสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร มีประโยชน์กับ SEO อย่างไร รวมไปถึงจะนำ Search Intent มาปรับใช้ในการทำคอนเทนต์ได้อย่างไรบ้าง
ถ้าพร้อมแล้วตามไปหาคำตอบของทุกข้อสงสัยไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ
Search Intent คืออะไร ?
ที่มาภาพ: searchmetrics
Search Intent คือ เจตนาของผู้ใช้ หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายมากขึ้น Search Intent หมายถึง จุดประสงค์ของการค้นหาบน Search Engine อย่างบน Google โดยจะเป็นการดูว่าคนทำการค้นหาคีย์เวิร์ด (Keyword) นั้นบน Google เพื่ออะไร เช่น หาข้อมูล ถามเรื่องที่สงสัย ค้นหาสินค้า เป็นต้น
User Intent สำคัญแค่ไหน ?
User Intent เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนทำเว็บไซต์ เพราะ Google มี Mission ที่ต้องการจะทำให้แพลตฟอร์มของเขาเป็นแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงได้และเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ดังนั้น Google จึงพยายามที่จะพัฒนาเครื่องมือให้สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างคำ สามารถจดจำความหมาย บริบท ที่ตอบสนองต่อความตั้งใจของผู้ค้นหาให้ได้ เห็นได้ชัดจากการปล่อย Google Hummingbird, Google RankBrain และการปรับอัลกอริทึมอื่นๆ Google อีกมากมาย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับ Search Intent ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
หากคุณต้องการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับบน Google ก็ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาบทความให้ตรงกับ User Intent ไปพร้อมๆ กับการใช้เทคนิคในการทำ SEO อื่นๆ เพื่อผลักดันให้อันดับดีขึ้นไปเรื่อยๆ ตามที่ต้องการ
Search Intent สำคัญยังไง กับการทำ SEO ?
ในด้านการทำ SEO เรารู้กันดีว่า Google มีกฎเกณฑ์มากมายที่ใช้เป็นมาตรฐานในการจัดอันดับเว็บไซต์ เช่น Core Web Vital, E-A-T Factor หรือแม้กระทั่ง Search Intent เองก็เป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่ Google เองก็โฟกัสอยู่เช่นกัน ดูได้จาก Quality Raters Guideline ที่ Google ได้พูดถึงเรื่องของ User Intent เอาไว้ด้วย เช่น
ดังนั้น หากต้องการทำอันดับที่ดีให้ได้บน Google จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของ Search Intent เพราะเรื่องนี้จะช่วยคุณได้ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น…
- ช่วยในการทำ Keyword Research ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะช่วยกำหนดเป้าหมายคำค้นหาที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและกลุ่มเป้าหมาย
- ช่วยในการสร้างเนื้อหาที่สามารถตอบคำถามของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง และจัดโครงสร้างหน้าเว็บไซต์ที่เป็นมิตรต่อทั้งผู้ใช้และ Google Bot
- ช่วยในการทำคอนเทนต์ที่ทาง Google มองว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจต้องการได้มากขึ้น
Search Intent มีแบบไหนบ้าง ?
Search Intent สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
ที่มาภาพ: seobility
การค้นหาเพื่อหาข้อมูล (Informational Intent)
การค้นหาเพื่อหาข้อมูล (Informational Intent) เป็น Search Intent ของคนที่ต้องการค้นหาคำตอบบางอย่าง เพื่อตอบข้อสงสัย หรือนำมาใช้เป็นข้อมูล ส่วนใหญ่มักจะเป็นการค้นหาด้วยข้อความสั้นๆ เน้นการได้คำตอบแบบรวดเร็ว ซึ่งคีย์เวิร์ดที่พิมพ์ลงไปอาจจะเป็นคำถามหรือไม่ใช่ก็ได้ เช่น
- Mrt เปิดกี่โมง
- ผลหวย
- วิธีทำขนมปัง
- วันหยุดปีนี้
การค้นหาเพื่อหาทางไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการ (Navigational Intent)
การค้นหาเพื่อหาทางไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการ (Navigational Intent) เป็น Search Intent ของคนที่ต้องการค้นหาชื่อของเว็บไซต์ที่รู้จักอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่อยากพิมพ์ URL ยาวๆ หรืออาจจะไม่แน่ใจเกี่ยวกับ URL ที่ถูกต้องของเว็บไซต์เหล่านั้น เลยใช้วิธีการค้นหาด้วยชื่อของแบรนด์นั้นแทน เช่น
- TikTok
- Facebook Login
- The standard Podcast
- วงใน รีวิว
- รถยนต์ Pantip
หรือบางทีก็เป็นการค้นหาคีย์เวิร์ดเพื่อทำให้รู้ที่อยู่ เบอร์ติดต่อของเว็บไซต์เพื่อที่จะทำการติดต่อเข้าไปโดยตรง เช่น
- ติดต่อ IKEA
- Dtac call center
- เซ็นทรัลพระราม 9 อยู่ที่ไหน
การค้นหาตัวเลือกเพื่อตัดสินใจ (Commercial Intent)
การค้นหาตัวเลือกเพื่อตัดสินใจ (Commercial Intent) เป็น Search Intent ของคนที่ต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ เนื่องจากมีความสนใจ แต่กำลังลังเลว่าควรจะซื้อแบบไหนดี ทำให้ต้องค้นหารีวิว การเปรียบเทียบ หรือข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อหรือกำลังตัดสินใจว่าตัวเลือกใดเหมาะสมกับพวกเขา เช่น
- รีวิวไอโฟน
- หม้อหุงข้าว Panasonic รุ่นไหนดี
- SEO VS SEM
- ร้านอาหารเยาวราช
การค้นหาเพื่อซื้อ (Transactional Intent)
การค้นหาเพื่อซื้อ (Transactional Intent) เป็น Search Intent ของคนที่ต้องการค้นหาสินค้าและบริการแบบเฉพาะเจาะจง เพราะมีความต้องการที่จะซื้อ หรือเป็นการกระทำบางอย่างที่นำไปสู่ Conversion ที่ธุรกิจต้องการ เช่น
- ย้ายค่าย AIS
- ซื้อ Adidas
- จองโรงแรมเขาใหญ่
- เครื่องดูดฝุ่น xiaomi ราคา
วิธีทำคอนเทนต์ให้ตรงกับ Search Intent
สำหรับวิธีทำคอนเทนต์ให้ตรงกับ Search Intent เราจะมีแนะนำให้เป็นแนวทางทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ประเภทของ Search Intent ของแต่ละ Keyword
อันดับแรกแนะนำให้คุณทำการจำแนก Search Intent ของแต่ละ Keyword ให้ได้ก่อนว่าเป็นแบบไหน กลุ่มเป้าหมายค้นหาคำนี้เพื่ออะไร มาลองฝึกดูตัวอย่างคำค้นหากัน
- รีวิวที่เที่ยวเชียงใหม่ – ผู้ใช้งานต้องการหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจ (Commercial Intent)
- คูปอง line man ราคา – ผู้ใช้งานต้องการค้นหาเพื่อซื้อ (Transactional Intent)
- เลขพัสดุ flash – ผู้ใช้งานต้องการค้นหาเพื่อหาทางไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการ (Navigational Intent)
- วิธียิงแอด – ผู้ใช้งานต้องการค้นหาข้อมูล (Informational Intent)
ขั้นที่ 2 ตรวจสอบ Search engine results page
Search engine results page หรือ SERPs จะเป็นผลลัพธ์ของการค้นหาที่แสดงขึ้นมาบนหน้า Google ให้คุณทำการตรวจสอบดูว่า คำคีย์เวิร์ดที่คุณจะนำมาใช้ทำ SEO นั้น มีผลการค้นหาบน SERP เป็นอย่างไรบ้าง เพราะ Search Intent ในแต่ละประเภทก็มีรูปแบบของการแสดงผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น
ที่มาภาพ: semrush
การค้นหาเพื่อหาทางไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการ (Navigational Intent) ในบางครั้งผู้ใช้ต้องการค้นหาเพจ โดเมน เบอร์ติดต่อ หรือที่อยู่ของเว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งเป็นการค้นหาคำตอบที่ง่ายและไม่ซับซ้อน หากคุณทำการใส่เบอร์โทร ที่อยู่ Google Map ผลลัพธ์จากเว็บไซต์ของคุณก็มีโอกาสปรากฏขึ้นไปอยู่บนผลการค้นหา (แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการทำ On-Page และการวาง Site Structure ของเว็บไซต์คุณด้วยว่าดีพอที่ Google จะทำการจัดอันดับให้หรือไม่)
หรืออย่างในคีย์เวิร์ดบางคำที่คุณต้องการทำอันดับ ผลลัพธ์ที่ปรากฏขึ้นมาบน SERPs ก็อาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เป็นเว็บไซต์ในอันดับแรกๆ แต่เป็นผลลัพธ์ประเภทวิดีโอจาก YouTube หรือ TikTok นั่นก็แสดงว่า คำคีย์เวิร์ดนี้คุณควรที่จะลงสนามไปทำ SEO ในแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ใช่เว็บไซต์
และคีย์เวิร์ดแต่ละคีย์เวิร์ดต่อให้ผลลัพธ์การค้นหาขึ้นมาเป็นเว็บไซต์เหมือนกัน แต่ประเภทของคอนเทนต์รวมไปถึงประเภทของเว็บไซต์ที่ปรากฏขึ้นในผลการค้นหาก็มีโอกาสที่จะไม่เหมือนกันอยู่ด้วย
เช่น หากค้นหาคำว่า “ซื้อเสื้อผ้าที่ไหนดี” ซึ่งเป็น Search Intent ในรูปแบบการค้นหาตัวเลือกเพื่อตัดสินใจ (Commercial Intent) จะเห็นว่าผลการค้นหาส่วนใหญ่จะเป็น Blog ที่ให้ความรู้และช่วยในการตัดสินใจ แต่ถ้าค้นหาคำว่า “ซื้อเสื้อผ้ามือสอง” ซึ่งเป็น Search Intent ในรูปแบบการค้นหาเพื่อซื้อ (Transactional Intent) ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเว็บไซต์ประเภท E-Commerce ที่สามารถกดซื้อสินค้าได้เลยแทน
ดังนั้น ในขั้นตอนแรกนี้ คุณจึงควรดูว่า Keyword แต่ละคำ มี Search Intent ในรูปแบบไหน จากการตรวจดูรูปแบบของคอนเทนต์ที่แสดงขึ้นมาบน SERPs หลังจากนั้นจึงจะถึงเวลาวางแผนการเขียนคอนเทนต์ในขั้นถัดไป
ขั้นที่ 3 วิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายอยากอ่านอะไร
หลังจากที่รู้แล้วว่า Search Intent ของคีย์เวิร์ดที่ต้องการเป็นอย่างไร คราวนี้ก็มาลงรายละเอียดของเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคีย์เวิร์ด เพราะผู้ที่ทำการค้นหาในแต่ละคำมีสิ่งที่ต้องการค้นหาเพื่อให้ได้คำตอบไม่เหมือนกัน เช่น
- คนที่ค้นหาว่า SEO คืออะไร แน่นอนว่า เป็นกลุ่มคนที่อาจจะเพิ่งเคยได้ยินคำว่า SEO อาจจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลยจึงทำการค้นหาคำนี้ เนื้อหาคอนเทนต์ที่ต้องการอ่านอาจจะเป็นเนื้อหาที่ปูความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคำว่า SEO การทำคอนเทนต์อาจจะออกมาเป็นบทความสำหรับมือใหม่เป็นหลัก
- คนที่ค้นหาว่า วิธีทำ SEO คนกลุ่มนี้คือคนที่เข้าใจนิยามเกี่ยวกับคำนี้แล้ว จึงต้องการหาวิธีการทำ SEO ดังนั้น เนื้อหาที่เหมาะสมกับคีย์เวิร์ดนี้จึงเป็นการเขียนในเชิง How-to ที่บอกวิธีการทำ SEO
- คนที่ค้นหาคำว่า คอร์ส SEO คนกลุ่มนี้ต้องการข้อมูลของคอร์สสอนทำ SEO ไม่ต้องการอ่านเนื้อหาเพื่อเรียนรู้เอง เนื้อหาที่นำเสนอบนเว็บไซต์จึงควรเป็นรายละเอียดของคอร์ส SEO ในรูปแบบต่างๆ ที่คิดว่ากลุ่มเป้าหมายจะสนใจ
ขั้นที่ 4 เขียนคอนเทนต์โดยใช้ Long-tail keyword และ LSI Keyword
Long-tail keyword คือ คีย์เวิร์ดที่เป็นกลุ่มคำหรือวลีที่มากกว่า 2 คำขึ้นไป จะมีปริมาณการค้นหาและระดับการแข่งขันค่อนข้างต่ำกว่า Keyword หลักที่มีขนาดสั้น แต่มีโอกาสที่จะทำอันดับได้มากกว่า ดังนั้น การเขียนคอนเทนต์จึงควรใช้ Long-tail keyword มาทำเป็น Heading 2 หรือ 3 รวมถึงนำมากระจายเอาไว้ในบทความในปริมาณที่เหมาะสมด้วย ซึ่งการจะหา Long-tail keyword สามารถทำได้หลายวิธีเช่น
การหาจากคำคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง (Related Keyword)
การหาจาก “People also ask” หรือคำถามอื่นๆ ที่ผู้คนถามเกี่ยวกับเรื่องนี้
ที่มาภาพ: google support
การหาจากโปรแกรมหา Keyword (ถ้าไม่รู้ว่าจะใช้โปรแกรมไหน แนะนำให้ดูรีวิวต่อได้ที่ แนะนำโปรแกรมหา Keyword [ฟรี+เสียเงิน] เพื่อการทำ SEO อย่างมีประสิทธิภาพ)
ส่วน LSI Keyword คือ คำที่เกี่ยวข้องกับ Keyword หลัก ไม่ใช่คำพ้องความหมาย มีหน้าที่ช่วยทำให้ Google Bot เข้าใจบริบทในคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น จึงควรที่จะใส่ลงไปในบทความด้วย เช่น
ที่มาภาพ: similarweb
จากภาพตัวอย่าง Keyword หลักคือคำว่า ‘Protein Shake’ LSI Keywords จึงเป็นคำแวดล้อมที่อธิบายว่า หน้าเว็บไซต์นี้จะหมายถึง Protein Shake ที่เป็นเมนูเครื่องดื่มจริงๆ เช่น Ice, Fruites, Drinks, Recipes เป็นต้น
ขั้นที่ 5 ทำคอนเทนต์ให้โดดเด่นและดีต่อ SEO
การทำคอนเทนต์ให้โดดเด่นสามารถทำได้โดยใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ของ Google เช่น การทำ Rich Snippet เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับคอนเทนต์ เป็นต้น ส่วนการทำคอนเทนต์ให้ดีต่อ SEO จะต้องเขียนให้เหมาะสมกับการทำ On-Page SEO เช่น
- การตั้งชื่อหัวข้อ Title และการเขียนคำอธิบายเนื้อหา (Description)
- การทำ Internal Links / External Links
- การทำ Heading Tag (H1,H2,H3,…)
- ตั้งชื่อรูปภาพในบทความและทำ Alt
สรุปเรื่อง Search Intent
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นแล้วว่า Search Intent คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสิร์ชของคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราว่า พวกเขากำลังค้นหาอะไร และ Keyword ที่พวกเขาค้นหานั้นควรที่จะนำเสนอเนื้อหาอะไรให้กับพวกเขาถึงจะตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งถ้าเว็บไซต์ไหนสามารถทำได้ Google ก็จะมองว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาคุณภาพ และจะถูกจัดอันดับที่ดีขึ้น ดังนั้น อย่าละเลยการให้ความสำคัญในการทำความรู้จัก Search Intent กันก่อนที่จะลงมือเขียนคอนเทนต์กันนะครับ
อ้างอิง
https://www.searchenginejournal.com/semrush-search-intent-strategy/428162/
https://www.semrush.com/blog/how-to-use-search-intent-for-your-business/
https://www.searchenginejournal.com/semrush-search-intent-strategy/428162/