สำหรับนักการตลาดที่อยากเพิ่มจำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์และยอดคลิกให้มีมากขึ้น แนะนำให้เรียนรู้สิ่งที่ผมจะบอกในบทความนี้ นั่นคือ การทำ Google Sitelinks อีกหนึ่งเทคนิคที่หลายคนมองข้าม หรือบางคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าทำได้ยังไงบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาให้กับคุณแล้วครับ
(นอกจากนักการตลาดแล้ว คนทำ SEO ก็ห้ามพลาดเลยนะครับ เพราะนี่คืออีกหนึ่งวิธีที่จะบอกว่าเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพในสายตาของ Google หรือเปล่าได้ด้วย)
Sitelinks คืออะไร ?
หลายคนรู้จักวิธีการทำ Featured Snippets ที่เป็นฟีเจอร์จากทาง Google ที่ช่วยทำให้ติด Google ในอันดับ 0 แต่อาจจะไม่เคยรู้ว่านอกจากฟีเจอร์นี้แล้ว ยังมีวิธีการใช้งาน Google ที่ช่วยทำให้คนคลิกเข้ามายังเว็บไซต์เพิ่มขึ้นอย่างการทำ Google Sitelinks อยู่ด้วย มาดูกันว่า Sitelinks คืออะไร? กันดีกว่าครับ
ตัวอย่าง Sitelinks
Sitelinks คือ ลิงก์ที่ปรากฏเป็นผลลัพธ์อยู่ใต้ Title tag และ Meta Description ที่เป็นผลการค้นหาบน Google โดยหน้าตาจะเป็นลิงก์ที่มีหัวข้อและคำอธิบายสั้นๆ แยกออกมาเหมือนกับสารบัญเว็บไซต์ที่จะพาผู้ใช้งานไปยังหน้าต่างๆ ของเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องเข้าใช้งานผ่านหน้า Home เหมือนปกติ
ไม่ใช่ทุกเว็บจะถูกเลือกให้มีการแสดงผลแบบเป็น Sitelinks ส่วนใหญ่เราจะเห็นเว็บไซต์ที่มี Google Sitelinks ได้จากบริเวณเว็บไซต์ที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหา โดยจะปรากฏลิงก์ให้คลิกประมาณ 2-6 ลิงก์เหมือนกับตัวอย่างในภาพ
แต่นอกจาก Sitelinks แบบนี้แล้วยังมี Sitelinks ประเภทอื่นด้วยเช่นกัน เดี๋ยวเราเลื่อนลงไปดูรายละเอียดพร้อมกันในหัวข้อถัดไปได้เลยครับ
ประเภทของ Sitelinks
Sitelinks มีทั้งหมดกี่ประเภท? ในที่นี้ผมจะขอแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้
Organic Sitelinks
Organic Sitelinks คือ การแสดงผลของลิงก์ที่มีลักษณะเหมือนเป็นสารบัญหรือเมนูย่อยๆ ของเว็บไซต์ โดยจะมีสูงสุด 6 ลิงก์ให้คลิกเข้าไปยังหน้าสำคัญอื่นๆ ได้โดยตรง มักจะปรากฏอยู่บนผลการค้นหาเว็บไซต์ที่ติดอันดับ 1 บนหน้า Google Search และมักจะรองรับในกลุ่มของการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ เช่น หาชื่อแบรนด์ ชื่อเว็บไซต์ ฯลฯ ซึ่งช่วยเพิ่ม Organic Traffic ให้กับเว็บไซต์ได้มากยิ่งขึ้น
One-Line Sitelinks
One-Line Sitelinks คือ เป็นรูปแบบ Sitelink เมนูที่สามารถคลิกไปยังหน้าเพจในเว็บไซต์ของเราได้เหมือนกับ Organic Sitelinks แต่จะแสดงผลแบบบรรทัดเดียวจบ (แสดงอยู่ใต้ Title และ Description) โดยจะแสดงสูงสุด 4 ลิงก์ ส่วนการแสดงผลไม่จำเป็นต้องเป็นอันดับ 1 ของ Keyword นั้นๆ หรือต้องค้นหาชื่อแบรนด์เหมือนกับ Organic Sitelinks ก็สามารถมี One-Line Sitelinks ขึ้นได้
Search Box Sitelinks
Search Box Sitelinks คือ ไซต์ลิงก์ที่จะแสดงช่องสำหรับค้นหาข้อมูลขึ้นมาด้วยหลังจากที่ทำการเสิร์ชสิ่งที่ต้องการ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ได้ตั้งแต่หน้าผลการค้นหาบน Google โดยจะเห็นได้ในเว็บไซต์ที่เป็นคำค้นหาจำพวกชื่อแบรนด์ หรือเว็บไซต์ประเภท E-Commerce ที่มีสินค้าบนเว็บไซต์ให้ค้นหาได้
Paid Sitelinks
Paid Sitelinks คือ ผลลัพธ์ของ Sitelinks รูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะต่างจาก Sitelinks ในรูปแบบอื่นๆ เพราะเป็นไซต์ลิงก์ที่ปรากฏในส่วนของการยิง Search Ads หรือที่หลายคนเรียกว่า Sitelink Extensions มีข้อดีคือ เราสามารถทำการกำหนดข้อความที่ต้องการแสดงได้เอง แถมยังกำหนด URL ที่ต้องการได้อีกด้วย
ที่มาภาพ: support.google.com
ตัวอย่างการกำหนด Sitelink Extensions บน Google Ads
วิธีทำ Google Sitelinks
มาถึงหัวข้อที่ทุกคนรอคอยนั่นคือ การทำ Google Sitelinks ว่าจะมีเทคนิคอะไรบ้างที่ช่วยเพิ่มโอกาสทำให้ Google มอบ Sitelinks ให้กับคุณได้ โดยผมจะขอแบ่งออกเป็นหัวข้อสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
ใช้ชื่อโดเมนและชื่อของเว็บไซต์ที่ไม่ซ้ำใคร
การใช้ชื่อแบรนด์บนเว็บไซต์ที่ไม่ซ้ำกับใครจะช่วยทำให้ผลลัพธ์การแสดงเว็บไซต์ขึ้นอันดับ 1 ในคีย์เวิร์ดที่เป็น Branding Keyword ได้ง่ายมากขึ้น และมีโอกาสที่ Google จะเพิ่ม Sitelink ให้ด้วย ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น
คุณทำบริษัทชื่อว่า บริษัทล้างรถยนต์ แน่นอนว่า ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ในแง่ของการจดจำอาจจะง่ายหากเป็นการพูดกันแบบปากต่อปากของคนที่อยู่ใกล้กับร้านคุณ แต่ในแง่ของการค้นหาบน Google ชื่อรูปแบบนี้อาจจะทำอันดับหรือค้นหาเจอได้ยาก รวมถึงทำให้ติด Google Sitelinks ได้ยากเช่นกัน เพราะคำค้นหาเช่นนี้จะแสดงแบรนด์ทุกแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจล้างรถยนต์ขึ้นมาให้แบบตัวอย่าง
ยกเว้นในกรณีที่คุณเป็นแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Apple คุณอาจจะใช้ชื่อที่มีความหมายอยู่แล้วอย่างแอปเปิลที่เป็นผลไม้ แต่เมื่อกดค้นหา คนทำการค้นหาชื่อแบรนด์ที่เป็นบริษัท Apple มากกว่า ผลลัพธ์ของการค้นหาก็จะขึ้นชื่อแบรนด์ของคุณพร้อมกับ Google Sitelinks มาให้แบบนี้เลย
ทำให้เว็บไซต์ติดอันดับ 1 ในคีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อแบรนด์
อย่างที่บอกไปแล้วว่า Organic Sitelinks เป็นไซต์ลิงก์ที่พบได้บ่อย และมักจะเป็นไซต์ลิงก์ที่ขึ้นเมื่อเราทำการค้นหาชื่อแบรนด์ หากอยากเพิ่มโอกาสในการที่ Google จะทำ Sitelinks ประเภทนี้ให้ก็ควรที่จะทำให้เว็บไซต์ติดอันดับในคีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อแบรนด์ของคุณ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ The Matter ที่เป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ข่าวสาร และสื่อสารมวลชน ที่ทำให้ชื่อของแบรนด์ติดหน้า SEO ในอันดับ 1 ทำให้มีโอกาสได้ Sitelinks จาก Google แต่ถ้าหากทำไม่ติดอันดับ คำว่า The Matter ในผลลัพธ์อันดับ 1 ก็อาจจะเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการแปลภาษา ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการได้ไซต์ลิงก์ของเว็บไซต์ได้
วาง Sitemap ให้ง่ายต่อการค้นหา
Sitemap คือ แผนผังของเว็บไซต์ที่ช่วยให้ Bot ของ Google เข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ได้มากขึ้น หากคุณวาง Sitemap ดี ก็จะช่วยทำให้ Google Bot เข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่าย รวมถึงตัวผู้ใช้งานเว็บไซต์เองก็สามารถค้นหาข้อมูลเจอได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้อันดับของ SEO ดีขึ้น และเมื่อส่งผลต่อการจัดอันดับ รวมถึงทำให้ Bot เข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่าย ก็จะช่วยทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการแสดงผลเป็น Sitelinks ได้มากขึ้น
ที่มาภาพ: backlinko.com
ตัวอย่าง Site Structure ที่ดี ทำให้ Google Bot เข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากการวาง Sitemap ให้ดีแล้ว ต้องอย่าลืมที่จะทำการส่ง Sitemap ให้กับทาง Google ด้วย โดยวิธีการส่ง Sitemap ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- เข้าไปที่ Google Search Console
- เลือก Property ที่ต้องการ
- ดูแถบเมนูซ้ายมือ คลิกที่คำว่า Sitemap
- ใส่ Sitemap URL ที่ต้องการลงไป
- กด Submit
ที่มาภาพ: ahrefs.com
สร้าง Internal Links ที่มีคุณภาพ
Internal Links คือ ลิงก์เชื่อมโยงหน้าภายในเว็บไซต์ ซึ่งปกติเราต้องทำกันอยู่แล้ว เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้ Google เห็นถึงความเชื่อมโยงเนื้อหาภายในเว็บไซต์ และยังช่วยทำให้ Google เห็นด้วยว่า หน้าไหนในเว็บไซต์สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำการเชื่อมโยง Internal Links ไปยังหน้าสินค้าใดมากๆ Google ก็จะมีแนวโน้มที่จะหยิบเอาหน้านั้นมาทำเป็น Google Sitelinks มากขึ้น
ที่มาภาพ: sitecentre.com.au
ระวังการตั้ง Title หรือ Heading ซ้ำกัน
สำหรับใครที่ทำหน้าเว็บไซต์ที่เป็น E-Commerce อาจจะใช้วิธีการตั้งชื่อ Title หรือ Heading แบบสั้นๆ จนบางครั้งก็เขียนให้ซ้ำกัน การทำเช่นนี้อาจส่งผลต่อการทำ SEO ในด้านการ Duplicate Content หรือการจัดอันดับผิดหน้า รวมถึงทำให้ Google สับสน และอาจจะนำหน้าทั้ง 2 หน้าจัดขึ้นไปบน Sitelink ซึ่งจะทำให้เสีย User Experience ไปได้ ทางที่ดีควรตั้งให้แตกต่าง มี Keyword เฉพาะของแต่ละหน้า รวมถึงเขียนให้ดึงดูกมากขึ้น
ตัวอย่างการเขียน Title ที่ดี ทำให้ Sitelinks มีคุณภาพ
ประโยชน์ของการทำ Sitelinks เว็บไซต์
Sitelinks สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่ทำเว็บไซต์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น…
เพิ่มยอด Click-Through Rate (CTR)
ที่มาภาพ: www.sitevisibility.co.uk/
จากกราฟจะเห็นว่าเมื่อเว็บไซต์มีการทำ Google Sitelinks แล้วจะช่วยทำให้ยอด Click-Through Rate (CTR) เพิ่มสูงมากขึ้นได้ เนื่องจากการทำไซต์ลิงก์ช่วยทำให้ผู้ใช้งานสะดวกในการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใช้งานเว็บไซต์ผ่านหน้าหลักเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดอัตราการคลิกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งของการทำ Google Ads เองก็สามารถใช้ประโยชน์ในการทำ Sitelinks เพื่อช่วยให้ยอด Traffic จากการยิงแอดดีขึ้นได้
สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
การที่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งจะได้ Sitelink มาครอบครอง (ยกเว้นการยิงแอดที่เราสามารถควบคุมการขึ้นของ Sitelink) แสดงว่า Google จะต้องรู้สึกว่าเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพมากพอที่ผู้ใช้งาน Google จะสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องได้จากไซต์ลิงก์ที่มอบให้ ดังนั้น เว็บไซต์ไหนที่ไม่มีคุณภาพก็ยากที่จะมี Sitelink เกิดขึ้น เว็บไซต์ที่มีไซต์ลิงก์ปรากฏจึงดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
เพิ่มการรับรู้ให้กับแบรนด์และสินค้าของแบรนด์
ที่มาภาพ: kinsta.com
Google Sitelinks มักจะเป็นการลิงก์ไปยังหน้าสำคัญๆ ของเว็บไซต์ เช่น หน้าสินค้า หน้าบทความ หน้าเกี่ยวกับบริษัท หน้าราคาสินค้าและบริการ ฯลฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ให้กับลูกค้าได้อีกวิธี และทำให้ลูกค้ามุ่งเข้าสู่หน้าต่างๆ ได้ทันทีหลังจากที่รู้สึกว่าเว็บไซต์นี้มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากพอ
ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น
สำหรับบางเว็บไซต์ที่มีจำนวนหน้ามากๆ การค้นหาหน้าเพจที่ต้องการอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ E-Commerce อย่าง Shoppee, Lazada ที่มีจำนวนหน้าสินค้าค่อนข้างมาก กว่าที่ผู้ใช้งานจะเข้าไปยังหน้าสินค้าที่ต้องการอาจจะต้องทำการค้นหาหรือคลิกเข้าสู่หน้าเว็บไซต์หลาย Step กว่าจะเข้าไปถึงหน้านั้นๆ ได้ การใช้ Google Sitelinks เพื่อช่วยในการค้นหาต้องแต่หน้าแรกก็จะช่วยทำให้ผู้ใช้งานค้นหาหน้าเพจที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงทำให้รู้ด้วยว่า หน้าไหนคือสินค้ายอดนิยม เพราะหน้าสินค้าที่นิยมจะโผล่ขึ้นมาบน Sitelinks ให้เห็นด้วย
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้าน User Experience
Google ให้ความสำคัญสำหรับเรื่องประสบการณ์การใช้งาน (User Experience) เป็นอย่างมาก และ Sitelinks เองก็มีส่วนช่วยทำให้การใช้งานดีขึ้นได้ จากการเป็นเหมือนลิงก์นำทางให้กับผู้ใช้งาน Google ค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น
ที่มาภาพ: seranking.com
เว็บไซต์นี้ที่มี Sitelink เป็นหน้า Chicken Recipes ซึ่งเป็นหน้าที่คนนิยมใช้บนเว็บไซต์ แต่ถ้าเข้าใช้งานจากหน้าเว็บไซต์โดยตรงจะไม่ได้เห็นแท็บเมนู Chicken Recipes แต่จะต้องเข้าไปยังเมนู Ingredient Category ก่อนแล้วทำการค้นหาสูตรการทำเมนูไก่อีกที ซึ่งทำให้ประสบการณ์ใช้งานดูยุ่งยาก การมี Google Sitelinks ก็ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าสู่หน้าที่ต้องการได้เร็วขึ้น
ที่มาภาพ: seranking.com
สรุป
สรุปแล้ว Google Sitelinks คือฟีเจอร์หนึ่งของ Google ที่ช่วยทำให้เว็บไซต์มีโอกาสเพิ่มยอดคลิก ยอด CTR เพิ่มการรับรู้แบรนด์ไปจนถึงปรับปรุงประสบการณ์ใช้งานเว็บไซต์ของ User ได้ดีขึ้นจากผลลัพธ์การค้นหาที่ดึงเอาลิงก์สำคัญของหน้าเว็บไซต์ขึ้นมาแสดงตั้งแต่ Search Result
นอกจากนี้ ในด้านการทำ SEO เอง Google Sitelinks ก็ยังมีประโยชน์ในการเพิ่มยอดการมองเห็นให้กับเว็บไซต์ในหน้าอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหน้าหลักได้ พร้อมช่วยระบุให้ Google รู้ได้ว่าเว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและยอดคลิกที่มากขึ้นได้
แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า Google Sitelinks อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้เนื่องจาก Google จะเป็นคนคัดเลือกเว็บไซต์ขึ้นมาแสดงผลเอง (ยกเว้นในฝั่งของการทำ Google Ads ที่สามารถเขียน Google Sitelinks Extensions ได้ด้วยตัวเองเลย) ก็อาจจะโฟกัสไปที่การทำเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และทำให้ติดอันดับดีๆ ก็จะช่วยทำให้มี Google Sitelinks แบบ Organic เพิ่มขึ้นได้อย่างที่ต้องการ
อ้างอิง
https://bloggingwizard.com/google-sitelinks/#why-are-google-sitelinks-important
https://kinsta.com/blog/google-sitelinks/
https://ahrefs.com/blog/sitelinks/