เมื่อพูดถึงการทำ SEO (Search Engine Optimization) สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ และเป็นเหมือนสารตั้งต้นให้กับการทำ SEO ประสบความสำเร็จเลยก็คือ การทำ Keyword เพราะหากเลือก Keyword ที่ดีก็จะช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าจะหยิบเอา Keyword อะไรมาทำก็ได้ แต่ควรที่จะศึกษาด้วยว่า Keyword นั้นเหมาะสมหรือไม่ ทำแล้วจะดีต่อเว็บไซต์ด้วยหรือเปล่า

ในบทความนี้ NerdOptimize เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังกันถึงเรื่อง Keyword แต่ไม่ได้มาบอกแล้วว่า Keyword นี้หมายถึงอะไร (ถ้าอยากรู้ตามไปอ่านบทความนี้แทนได้ครับ Keyword คืออะไร เลือกใช้ยังไง สอนวิธีหา Keyword ง่ายๆ ในไม่กี่ขั้นตอน) เราจะมาลงลึกถึงประเภทของ Keyword ที่ต้องรู้กันให้ลึกขึ้น นั่นคือ Long Tail Keyword มาดูกันครับว่า Long Tail Keyword คืออะไร สำคัญอย่างไร และจะหาได้จากไหนบ้าง ถ้า

หากพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าครับ 🙂

Long Tail Keyword คืออะไร

Long Tail Keyword คือ ข้อความค้นหา (Keyword) ที่คนใช้ในการค้นหาสิ่งที่อยากรู้จาก Search Engine แต่จะมีปริมาณการค้นหาและระดับการแข่งขันค่อนข้างต่ำกว่า Keyword หลักที่มีขนาดสั้น โดยจะเป็นกลุ่มคำ หรือวลีมากกว่าสองคำขึ้นไป มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น บอกถึงสถานที่ แบรนด์สินค้า หรือระบุวัตถุประสงค์ของการค้นหา เช่น คำ Keyword หลักคือคำว่า คาเฟ่ หากเป็นคำค้นหาที่มีการระบุเจาะจงมากขึ้น เช่น คาเฟ่ เชียงใหม่, คาเฟ่ เชียงใหม่ นั่งทำงาน, คาเฟ่ Starbuck เชียงใหม่ นั่งทำงาน ฯลฯ

keyword search in google
ที่มาภาพ: semrush
ภาพเปรียบเทียบปริมาณการค้นหาของคำที่เป็น Mass keyword หรือ Head Terms, Niche Keyword หรือ Body Keywords และ Long-tail keyword จะเห็นว่า Long-tail keyword มีปริมาณการค้นหาที่น้อยกว่าในแต่ละเดือน

Long Tail Keyword สำคัญอย่างไร

Long Tail Keyword มีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนทำ SEO เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังต่อไปนี้

ง่ายต่อการทำอันดับ

หากคุณต้องการทำ SEO ให้ติดในคำที่เป็น Mass keyword หรือ Head Terms นั้นอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากมีคู่แข่งเยอะ แถมยังทำอันดับได้ยาก ดังนั้นจะดีกว่าไหม หากหันมาโฟกัสทำอันดับใน Long Tail Keyword ที่มีปริมาณคู่แข่งที่น้อยกว่า และมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

long tail keyword สำคัญ.png

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณค้นหาคำว่า ซูชิ จะเห็นว่ามีผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหานี้ถึง7,720,000 results เพราะ Google จัดอันดับโดยรวมของเว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับซูชิทั้งหมด ทำให้มีจำนวนคู่แข่งสูงและทำอันดับได้ยาก

เน้นทำ longtail keyword

แต่ถ้าคุณเน้นทำ Long Tail Keyword ที่ยาวขึ้นและเจาะจงมากขึ้น อย่างเช่น ซูชิสายพาน จะเห็นว่า จำนวนของผลลัพธ์ที่แสดงผลให้เห็นลดลงเหลือแค่ 108,000 results ซึ่งทำอันดับได้ง่ายกว่ามาก

เจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า

เนื่องจาก Long Tail Keyword  มักจะมีความเฉพาะเจาะจงมาก ผู้ที่ใช้คีย์เวิร์ดเหล่านี้ในการค้นหาบน Google จึงมักเป็นคนที่สนใจในเรื่องนั้นแบบเจาะจง จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสได้กลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า

long tail keyword graph
ที่มาภาพ: backlinko
อย่างในกราฟด้านบนที่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีปริมาณการค้นหาที่น้อยกว่าการค้นหาด้วย Keyword หลัก แต่ Long Tail Keyword กลับเป็นคำที่ช่วยสร้างยอดขายให้กับธุรกิจได้มากที่สุด เพราะคนค้นหามักจะเจาะจงคำค้นหาที่แสดงออกว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความต้องการซื้อแล้ว เช่น ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 2 ล้าน, รองเท้า adidas ultra boost ผู้หญิง ราคา เป็นต้น

ค่า PPC ในการทำโฆษณาน้อยกว่า

สำหรับใครที่ทำการซื้อโฆษณา Paid Search จาก Google Ads ด้วยจะพบว่า เสียค่าโฆษณา PPC (Pay per Click) น้อยกว่า เนื่องจากคู่แข่งน้อย การแข่งขันไม่สูง เวลาที่ทำการ Bid หรือประมูล Long-Tail Keyword จะมี CPC ค่อนข้างต่ำ ทำให้การทำโฆษณาลงทุนน้อยลงได้ อีกทั้ง ในเงินที่ใช้ในจำนวนเท่ากัน คุณสามารถทำการซื้อ Long-Tail Keyword หลายๆ คำ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีปริมาณเทียบเท่ากับ Mass keyword หรือ Head Terms เลยก็ได้ แถมยังสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละคำ Keyword ได้มากกว่าด้วย

long tail keyword หลายๆคำ
ที่มาภาพ: semrush

Google ชอบ Long-Tail Keywords เพราะอะไร

อย่างที่เราทราบกันดีว่า Google มีกฎเกณฑ์มากมายที่ใช้ในการจัดอันดับเว็บไซต์ (สงสัยว่ามีมากขนาดไหน ลองดูกฎที่เราอัปเดตให้ได้ที่ Google Ranking Factor 2022 อัปเดตกฎ 200+ ข้อจาก Google) และเกณฑ์หนึ่งที่ Google ใช้ในการจัดอันดับและนำมาใช้ในการพิจารณาคุณภาพของเว็บไซต์คือ E-A-T Factor ซึ่งว่าด้วยเรื่องของ Expertise (ความเชี่ยวชาญ), Authoritativeness (ความมีอิทธิพล) และ Trustworthiness (ความน่าเชื่อถือ)

การเลือกใช้ Long-Tail Keywords คือหนึ่งในการทำ SEO ที่ช่วยปรับปรุง SEO On-Page ของเว็บไซต์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น แน่นอนว่าช่วยทำให้เว็บไซต์เข้าเกณฑ์ E-A-T Factor  อีกทั้งทำให้ Google สามารถดึงข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ได้ละเอียดขึ้นจากการทำ Long-Tail Keywords ได้ตรงกับ Search Intent ของกลุ่มเป้าหมาย ข้อมูลที่แสดงผลให้เห็นจากการค้นหาจึงเป็นข้อมูลที่เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ใช้งาน และเพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาได้อย่างประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม Google จึงชอบ Long-Tail Keywords นั่นเอง

วิธีการหา Long Tail Keywords

สำหรับวิธีการหา Long-Tail Keywords สามารถใช้เครื่องมือที่เราจะแนะนำทั้ง 5 เครื่องมือนี้ในการทำ Keyword Research ได้เลย

  • Keyword Planner

Keyword Planner เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำ Google Ads บน Google แต่ก็สามารถนำมาใช้ในการทำ  Long-Tail Keywords ผ่านตัว Keywords Planner ได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าหากต้องการใช้งานให้เข้าไปที่ https://ads.google.com/home/tools/keyword-planner/ หลังจากนั้นลงชื่อเข้าใช้บัญชี Google Ads แล้วเข้าไปที่ Keyword Planner เมื่อเข้ามาจะเห็นตัวเลือกที่สามารถเข้าใช้ได้ 2 รูปแบบ คือ

  • Discover new keywords เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการค้นหาคีย์เวิร์ดในไอเดียใหม่ๆ
  • Get search volume and forecasts เป็นเครื่องมือที่ใช้คาดการณ์ประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา
google keyword planner

หากต้องการหา Keyword ใหม่ๆ ให้เลือกใช้ Discover new keywords

ค้นหา long tail keyword

เมื่อเข้ามาจะเห็นว่า สามารถค้นหา Long-Tail Keywords ได้ทั้งแบบ Start with keywords ที่เป็นการค้นหา Keyword ที่ต้องการ หรือลิงก์ URL ที่เกี่ยวข้องลงไป พร้อมเลือก Location ที่ใช้ค้นหาได้ และ Start with a website ที่เป็นการค้นหา Long-Tail Keywords จากเว็บไซต์ของคุณเองหรือของคู่แข่งด้วยการใส่ URL ลงไป (แต่ในที่นี้จะใช้วิธีการค้นหาแบบ Start with keywords นะครับ)

research long tail keyword

หลังจากที่พิมพ์คำ Keyword ที่นึกออกเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะทำ SEO แนะนำว่าให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หลังจากนั้นให้กด Get results ก็จะปรากฏผลคำค้นหาที่เกี่ยวข้องขึ้นมามากมาย โดยคุณสามารถเลือกหา Long-Tail Keywords ที่มีคุณภาพจากการดู Avg. monthly searches หรือค่าเฉลี่ยของปริมาณการค้นหาในแต่ละเดือนที่ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป มี Competition หรือคู่แข่งที่เป็น Low หรือมีปริมาณน้อย ก็จะช่วยทำให้ติดอันดับใน Long-Tail Keywords นั้นง่ายขึ้น

  • Ahrefs

Ahrefs เป็นเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการทำ SEO ที่มีฟีเจอร์มากมายหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือที่ใช้เพื่อวิเคราะห์ Keyword ที่เรียกว่า Keyword Explorer (การใช้งานจะต้องเชื่อมต่อกับ Google Search Console และเสียค่าบริการรายเดือน)

ahrefs long tail keyword
ที่มาภาพ: ahrefs

ข้อดีของ Ahrefs คือ สามารถฟิลเตอร์ผลการค้นหาได้อย่างละเอียด เหมาะสำหรับเว็บไซต์ทั้งใหม่และเก่า โดยเว็บไซต์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีความน่าเชื่อถือ แล้วต้องการปั้น SEO ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ Keyword Difficulty (KD) เพื่อกำหนดค่าความยากของ Keyword นั้นได้ว่าจะให้อยู่ในระดับที่เท่าไหร่ (ถ้าง่ายจะขึ้นเป็นแถบสีเขียวเข้มตามตัวอย่าง) สามารถเลือกค้นหาปริมาณ Volume Search ได้ อีกทั้งยังสามารถกดเลือก Questions เพื่อค้นหา Long-Tail Keywords ที่เป็นการพิมพ์ในรูปแบบของคำถามได้ด้วย

ahrefs keywords

ตัวอย่างการฟีลเตอร์หา Long-Tail Keywords ด้วยฟีเจอร์ที่เป็นคำถาม จะเห็นว่าในช่วงของปริมาณการค้นหาที่ 300 ครั้ง/เดือน จะมีคำถามอยู่ 1 คำถามที่มีระดับของ Keyword Difficulty (KD) ที่ง่าย นั่นคือ how to do transcendental meditation pdf และอาจจะสามารถนำมาใช้เป็น Long-Tail Keywords ได้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่า สามารถเขียนเนื้อหาให้เกี่ยวข้องได้หรือไม่ด้วย

  • Google Suggest
google suggest long tail keyword

Google Suggest เป็นวิธีการค้นหา Long-Tail Keywords ที่ง่ายที่สุด ด้วยการพิมพ์สิ่งที่อย่างรู้ลงใน Google จากนั้นจะเห็นว่า Google จะแนะนำคำที่กำลังเป็นที่นิยมในการค้นหานั้นๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งคุณสามารถเลือกคำเหล่านั้นมาทำเป็น Long-Tail Keywords ได้ หรือถ้าอยากแน่ใจมากขึ้นก็สามารถนำคำเหล่านี้ไปค้นหา Search Volume ก่อนว่ามีปริมาณคนค้นหาเท่าไหร่ ยากหรือง่ายในการแข่งขันด้วยเครื่องมือทำ Keyword Research

Related keyword

นอกจากนี้ถ้าเลื่อนไปด้านล่างสุดของผลการค้นหาบนหน้า Google จะเห็น Related Searchs ซึ่งก็เป็น  Long-Tail Keywords ที่นำมาต่อยอดในการทำ On-Page SEO ได้เช่นกัน

Related Searchs

และในบางคำค้นหาก็จะได้เจอกับฟีเจอร์ People Also Ask (PAA) ซึ่งเป็นฟีเจอร์ SERP แบบหนึ่งที่จะช่วยตอบคำถามด้วยแสดงคำตอบเบื้องต้นที่คนใช้งาน Google อยากรู้ออกมาเกี่ยวกับคำ Keyword นั้นๆ ซึ่งถ้าคุณสามารถเขียนบทความที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยก็มีโอกาสที่จะติดอันดับหรือขึ้นเป็นคำตอบใต้ฟีเจอร์นี้ได้เช่นเดียวกัน

  • Keyword tools io

Keyword tools io เป็นโปรแกรมค้นหา Keyword ฟรี แบบมีข้อจำกัด คือ สามารถใช้ค้นหา Long-Tail Keywords ได้ เพียงพิมพ์คำที่ต้องการลงไป เลือกช่องทางที่ต้องการดู เช่น Google, YouTube, Bing, Amazon, Ebay, App Store เลือกประเทศที่ต้องการค้นหา หลังจากนั้นกด Search ผลลัพธ์ก็จะปรากฏ

keywordtool.io longtail keywords

สำหรับคนที่ใช้แบบฟรีจะเห็นผลลัพธ์แบบละเอียดเพียงแค่ 3 คำแรกของการค้นหาเท่านั้น โดยจะมีการบอก Search Volume หรือปริมาณการค้นหา, บอก Trend การค้นหาในช่วงนั้นว่าเป็นอย่างไร, มีการบอก Avg. CPC ให้ว่าจ่าย Google Ads ต่อคลิกเท่ากับกี่บาท และมีการบอกด้วยว่า Competition หรือคู่แข่งยากหรือง่าย แต่สำหรับคนที่ใช้ฟรีก็ยังสามารถเห็น Long-Tail Keywords คำอื่นๆ ได้ ก็อาจจะใช้เครื่องมืออื่นในการดูรายละเอียดที่ต้องใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่อได้ เช่น Google Trends, Keyword Planner

  • Google Trends

Google Trends เป็นเครื่องมือที่ใช้งานฟรีได้จาก Google สามารถใช้ตรวจสอบความนิยม ของ Keywords บนโลกออนไลน์ได้ โดยเข้าไปใช้งานได้ที่ https://trends.google.com/trends/

หลังจากนั้นให้พิมพ์คำค้นหาที่ต้องการ เช่น หากคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับขายอาหาร อาจจะลองค้นหาเมนูหรือประเภทอาหารที่คาดว่าจะได้รับความนิยม เพื่อนำมาทำคอนเทนต์เพื่อเรียก Traffic เข้าเว็บไซต์ (อย่าลืมเปลี่ยน Location ให้เป็นประเทศไทยด้วยนะครับ)

เมื่อเข้ามาถึงหน้าแสดงผลจะสามารถฟิลเตอร์ข้อมูลเพิ่มเติมได้ทั้งพื้นที่การค้นหา ระยะเวลาการค้นหา หมวดหมู่ที่ต้องการค้นหา และแพลตฟอร์มที่ต้องการค้นหา และเมื่อฟิลเตอร์เสร็จกราฟจะคำนวณความนิยมและความต้องการออกมา อย่างเช่น ตัวอย่างจะเห็นว่า เทรนด์อาหารคลีนนั้นเริ่มมีมาช่วงปี 2015 และในช่วงนี้อาจจะไม่ได้นิยมเท่ากับเมื่อช่วงก่อนหน้านี้แล้ว

google trend

เราสามารถใช้ฟีเจอร์การเปรียบเทียบ Keyword เพิ่มเติมได้ด้วยว่า Keyword ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน คำไหนที่คนให้ความสนใจมากกว่ากัน อย่างตัวอย่าง จะเห็นว่าเทรนด์ของอาหารคีโตนั้นมาทีหลัง แต่ในปัจจุบันก็ยังมีกระแสที่นิยมสูงกว่าอาหารคลีน

และถ้าเลื่อนลงมาด้านล่างจะเห็นว่ามีการแสดงผลการค้นหาในแต่ละพื้นที่ด้วยว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งมี Long-Tail Keywords มาให้ด้วยว่า มีคำไหนที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งก็สามารถนำไปเป็นไอเดีย รวมถึงหา Search Volume หรือเทรนด์ต่างๆ ต่อได้เช่นกัน

ข้อแนะนำในการใช้ Long Tail Keywords สำหรับทำ SEO

สำหรับ ข้อแนะนำในการใช้ Long Tail Keywords เพื่อการทำ SEO จะขอฝากเอาไว้ 2 ข้อหลักๆ ดังนี้ 

  • เลือก Long Tail Keywords สำหรับทำ SEO ที่เหมาะสมกับธุรกิจให้ได้ก่อน

การที่จะใช้ Long Tail Keywords ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่า ต้องเลือก Long Tail Keyword ที่เหมาะสมมาให้ได้เสียก่อน โดยจะมีหลักการเลือกดังต่อไปนี้

  1. เป็นคำที่มีคนใช้: ต้องหาให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายใช้คำอะไรในการค้นหาสินค้า บางครั้งอาจจะเป็นคำที่เขียนผิด ตัดทอน หรือเป็นภาษาปากก็ได้ เช่น มอเตอร์ไซค์ ค้นหาเป็น มอไซค์, ต่างหู ค้นหาเป็น ตุ้มหู ฯลฯ หรือบางครั้งอาจจะใช้คำที่มีความหมายเดียวกันเพื่อค้นหา เช่น หอพัก คอนโด ห้องเช่า ที่พัก เป็นต้น ซึ่งก็ต้องเลือกดูว่า Long Tail Keywords ของคำเหล่านี้ คำไหนที่มีคนใช้มากพอสมควร โดยดูจากปริมาณ Search Volume เป็นเกณฑ์ก็ได้
  2. เกี่ยวข้องกับธุรกิจ: เพราะถึงแม้จะเป็น Long Tail Keyword ที่มีคนใช้ มีปริมาณการค้นหาที่เหมาะสม แต่ถ้าคำนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจก็ไม่ช่วยนำไปสู่ยอดขาย อีกทั้ง ยังส่งผลเสียต่อเว็บไซต์ เนื่องจากเนื้อหาไม่ได้เข้าเกณฑ์ E-A-T Factor ที่ Google กำหนด
  3. สามารถแข่งขันได้: นอกจากจะมีคนใช้และเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแล้ว ต้องดูด้วยว่า จะทำการแข่งขันเพื่อขึ้นอันดับได้หรือไม่ โดยดูจาก Keyword Difficulty ในโปรแกรมวิเคราะห์ Keyword ได้
  • เขียนเนื้อหาโดยใช้ Long Tail Keywords 

การใช้ Long Tail Keywords เขียนลงไปในบทความหรือหน้า Service ของเว็บไซต์จะเป็นการปรับปรุง On-Page SEO ให้ดีขึ้น โดยใช้ Keywords นั้นเป็นคำตรงๆ ในบทความเลยก็จะช่วยให้ Google สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 

ส่วนรูปแบบของการเล่าเรื่องก็ควรที่จะเกี่ยวข้องกับ Long Tail Keywords ที่ช่วยให้คำตอบหรือแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ค้นหาจนมาเจอกับบทความในเว็บไซต์ของคุณ และอย่าลืมเขียนในรูปแบบ Long-form Content ที่มีปริมาณความยาว 1,000 คำขึ้นไปด้วยเนื้อหาที่สดใหม่แบบไม่ซ้ำใคร พร้อมทั้งทำสารบัญลงไปในเว็บไซต์ก็จะช่วยให้บทความติดอันดับบน Google แถมยังอ่านง่ายสำหรับผู้เข้ามาใช้งานอีกด้วย

ตัวอย่าง longtail keywords

(ถ้าไม่แน่ใจว่าต้องเขียนบทความแบบไหน ลองดูตัวอย่างบทความของ NerdOptimize ได้นะครับ เพราะมีติดอันดับบน Google ในหน้าแรกหลายบทความด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น บทความ วิธีทำ SEO สำหรับมือใหม่ ทำยังไงให้ติดหน้าแรก Google อัปเดตล่าสุด ซึ่งถ้าทุกคนอ่านเนื้อหาในบทความนี้ควบไปด้วยก็จะช่วยให้เข้าใจวิธีการทำ SEO ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนเลยครับ)

ข้อควรระวังสำหรับการใส่ Long Tail Keyword 

สำหรับข้อควรระวังในการใส่ Long Tail Keyword เราได้รวบรวมมาให้ 4 ข้อด้วยกัน ดังนี้

  • การใช้ Long Tail Keyword เป็น Keyword หลักในบทความ นอกจากจะต้องใส่คำนั้นๆ ลงไปในเนื้อหาแล้วต้องอย่าลืมใส่ลงไปใน Title,  Description และ URL ด้วย
  • ไม่ควรยัดเยียดเขียน Long Tail Keywords ลงไปในบทความมากจนเกินไป ควรคำนึงถึง Keyword Density หรือกระจายตัวของ Keyword บนหน้าเว็บไซต์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นการสแปม Keyword ได้ 
  • ต้องอย่าลืมดูด้วยว่า Long Tail Keyword นั้นเหมาะสำหรับนำมาทำเว็บไซต์ในหน้าไหน เช่น บางคำจะเหมาะสำหรับการทำบทความ แต่สำหรับ Long Tail Keyword ที่เป็น Buy Now Keyword เช่น จองที่พักน่าน ราคาถูก, ซื้อรองเท้า xxx รุ่น xxx ฯลฯ คำค้นหา ซื้อ เช่น จอง ขาย เหล่านี้เป็นคำที่คนค้นหาที่สร้าง Conversion ได้ การนำ Long Tail Keyword ไปใช้ก็อาจจะต้องใช้กับหน้า Service ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ ที่คนต้องการซื้อ ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้มากยิ่งขึ้น
  • ในกรณีที่ดูแล้ว Long Tail Keywords นั้น ไม่สามารถแข่งขันได้จริงๆ เช่น คู่แข่งเป็นเจ้าใหญ่ในตลาด อาจจะลองหา Long Tail Keywords อื่นๆ เพื่อเลี่ยงการแข่งขันแทน แล้วใช้ Long Tail Keyword ที่คู่แข่งค่อนข้างแข่งยากนั้นแทรกลงไปในคอนเทนต์บ้าง เพื่อความละเอียดของคอนเทนต์นั้นๆ แทน

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ใส่ Long Tail Keyword

longtail keyword tips

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มีการใช้ Long Tail Keyword อย่างชาญฉลาด จะขอยกเป็นเคสจากเว็บไซต์ Backlinko ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ SEO จากต่างประเทศ โดยเว็บไซต์นี้มีการทำ Long Tail Keyword ที่ค่อนข้างละเอียด โดยการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้เป็น Pillar Page ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายเหมือนกับการทำชุดบทความแยกออกมาเป็นหมวดหมู่ในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน โดยในแต่ละหมวดหมู่จะมีเนื้อหาหน้าแยกออกไป แต่ทุกหน้าจะเชื่อมโยงกลับมาหาหน้าหลักได้ทั้งหมด ลองดูภาพประกอบจะช่วยทำให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นครับ

นี่คือหน้าหลักของ Pillar Page จาก Backlinko ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ Youtube Marketing

โดยที่หน้าหลักจะเป็นเหมือนหน้าที่รวบรวมเนื้อหาไปยังหัวข้อแยกย่อยเกี่ยวกับ Youtube Marketing ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาแยกย่อยตามหัวข้อเหล่านั้นได้

และหน้าแยกย่อยที่ทำออกมานี้เองที่เป็นหน้าคอนเทนต์ที่ใช้ในการทำ Long Tail Keyword เพื่อทำให้ติดอันดับ โดยในแต่ละหน้าจะมี Long Tail Keyword ที่ใช้แยกออกจากกัน เช่น หน้านี้จะเป็นคำว่า YouTube Channel Keywords

Long Tail Keyword ติดหน้าแรก

และเมื่อนำ Long Tail Keyword จะพบว่า Backlinko นั้นติดอันดับอยู่บนหน้าแรกของ Google

มี search volume จาก long tail keyword

ซึ่งเมื่อนำ Long Tail Keyword ไปค้นหาจะเห็นว่าเป็นคำที่มี Search Volume อยู่บ้าง และเหมาะที่จะนำมาทำเป็น Long Tail Keyword 

(ส่วน KD อันนี้จัดอยู่ในระดับที่ทำได้ยากเหมือนกันครับสำหรับเว็บไซต์ใหม่ๆ แต่ ด้วยความที่ Backlinko เป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง มี Authority ที่คนเชื่อถือ แน่นอนว่า การเลือกใช้ Long Tail Keyword ที่มีคู่แข่งมากก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา แต่สำหรับมือใหม่อาจจะเลี่ยงคำเหล่านี้แล้วไปใช้ Long Tail Keyword ที่มีโอกาสทำอันดับได้แทนจะดีกว่าครับ)

สรุป 

การใช้ Long Tail Keyword นับเป็นอีกเทคนิคสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับการทำ SEO ให้ติดอันดับ เนื่องจาก Keyword ประเภทนี้มักจะเป็น Keyword ทำเงิน ที่มีคุณค่าทางธุรกิจกว่าคำกว้างๆ ปริมาณค้นหาเยอะ แต่ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการค้นหา Long Tail Keyword ที่จะนำมาใช้ในการทำ SEO สามารถทำได้โดยใช้ Keyword Tool ต่างๆ ที่มีทั้งแบบฟรีและเสียเงินในการค้นหา แต่ทั้งนี้ คนทำ SEO ก็ควรต้องรู้ว่ามีเมตริกอะไรที่ต้องดูเป็นบ้างถึงจะใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Search Volume, Keyword Difficulty (KD) เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้เรามีการบอกวิธีการใช้และวิธีการดูแบบคร่าวๆ ให้บ้างแล้ว ก็หวังว่า บทความนี้จะช่วยทำให้ทุกคนรู้จัก Long Tail Keyword และเข้าใจวิธีการหาได้มากขึ้นด้วยนะครับ 

อ้างอิง

https://ahrefs.com/blog/long-tail-keywords/

https://www.semrush.com/blog/how-to-choose-long-tail-keywords/

https://backlinko.com/hub/seo/long-tail-keywords

https://neilpatel.com/blog/how-to-integrate-long-tail-keywords-in-your-blog-posts/

https://backlinko.com/hub/youtube

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ สามารถศึกษา นโยบายความเป็นส่วนตัว และจัดการความเป็นส่วนตัว ได้ที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    Cookies Details

บันทึกการตั้งค่า