ยุคนี้คือยุคที่อะไรๆ ก็สามารถใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า AI เข้ามาช่วยทำงานแทนคนอย่างเราๆ และ AI เด็ดที่หลายคนพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในปีนี้ ซึ่ง NerdOptimize ไม่พลาดที่จะหยิบมาทำความรู้จัก พร้อมบอกเล่าวิธีการใช้งานแบบละเอียด นั่นก็คือ Google Bard จาก Google มาดูกันว่า Google Bard คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และจะช่วยทำให้คนเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้นแค่ไหน รวมถึงต่างจาก Chat GPT ที่หลายคนคุ้นเคยกันยังไง ตามไปดูวิธีการใช้และตัวอย่างกันในบทความนี้ได้เลยครับ!
Google Bard คืออะไร
ที่มาภาพ:
https://www.cnet.com/tech/google-bard-ai-dips-into-gmail-google-maps-youtube/
Google Bard คือ ปัญญาประดิษฐ์ประเภท AI Chatbot ที่ใช้ในการตอบคำถามที่ผู้คนสงสัยโดยใช้เทคโนโลยี LaMDA หรือ Language Model for Dialogue Appliations ในการสร้าง ซึ่งจะใช้งานได้สะดวกกว่าการกดเสิร์ชแบบปกติที่เราคุ้นชินกันดี เพราะ Google Bard สามารถพิมพ์ถามตอบคำถามได้จากการใช้โมเดลเบื้องหลังเป็น Large Language Models (LLM) ชื่อว่า PaLM2 ที่ฉลาดมากเพราะเข้าใจคำถามและคำสั่งภาษามนุษย์ที่ input เป็นข้อความได้เป็นอย่างดี
Google Bard ใช้ยังไง
วิธีใช้ Google Bard นั้นทำได้ง่ายๆ เริ่มต้นจากเข้าไปสมัครใช้งานได้ https://bard.google.com/ หรือจะพิมพ์หาใน Google ว่า “Google Bard” ก็ได้ หลังจากนั้นทำตามขั้นตอนดังนี้
- ไม่มีบัญชี Google ให้ทำการสมัครก่อน แล้วใช้บัญชีนั้นเข้าทำการสมัครใช้งาน Google Bard
- กด Try Bard เพื่อเข้าใช้งาน
- หลังจากนั้น Google จะแสดงหน้า Term&Privacy ที่อธิบายในเรื่องของการใช้ข้อมูล ให้กด I Agree
- สุดท้ายก็จะเข้าสู่หน้าตาของการใช้งาน Google Bard ซึ่งคุณสามารถทำการเขียน Prompt สำหรับใช้งาน Google Bard ได้เลย ส่วนใครที่ยังไม่เข้าใจว่า Prompt ที่ว่านี่คืออะไร ลองเลื่อนลงไปอ่านหัวข้อถัดไปเพื่อทำความเข้าใจดูนะครับ
วิธีการเขียน Prompt สำหรับใช้งาน Google Bard ให้มีประสิทธิภาพ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่า Prompt คืออะไรกันก่อน?
ที่มาภาพ:
https://www.fiverr.com/resources/guides/business/ai-prompt-writer
Prompt คือ Natural language processing (NLP) หรือการประมวลผลภาษาธรรมชาติที่เขียนขึ้นเพื่อฝึกให้ Generative AI อย่าง Google Bard ได้เกิดการเรียนรู้และทำอะไรบางอย่างตามที่เราต้องการ ซึ่งการเขียน Prompt ที่ดีจะต้องเขียนให้ชัดเจนเพื่อที่แบบจำลองทางภาษา (language models) จะได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสามารถสร้างคำตอบที่ถูกต้องได้ตามที่เราต้องการ
ที่มาภาพ: https://gitmind.com/ai-prompt-generator.html
แล้ว Prompt Design ที่จะช่วยให้ Google Bard เข้าใจควรที่จะเขียนยังไงบ้าง เรามาดูแนวคิดกันต่อเลยดีกว่าครับ โดยเริ่มแรกเราจะต้องดูก่อนว่า Prompt Design ที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
Input
เป็นส่วนจำเป็นที่ต้องใส่นะครับ โดยที่ Input จะเป็นชุดข้อมูลที่เราป้อนเข้าไปเพื่อให้ Google Bard ทำตาม โดยอาจจะออกมาเป็น Prompt ในรูปแบบต่างๆ เช่น
Context
เป็นส่วนที่จะใส่เพิ่มหรือไม่ใส่ก็ได้ โดย Context จะเป็นบริบทของคำสั่งที่ช่วยให้ Google Bard เข้าใจคำสั่งมากขึ้น และสร้างเนื้อหาหรือผลลัพธ์ตามที่เราต้องการได้ โดย Context อาจจะเป็นการเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจน หรือใส่ข้อจำกัดบางอย่างที่ช่วยให้ Google Bard ตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงและดูเป็นเชิงลึกตามที่ต้องการได้มากขึ้น
Examples
เป็นส่วนที่จะใส่เพิ่มหรือไม่ใส่ก็ได้ โดย Examples คือ ตัวอย่างของสิ่งที่เราต้องการให้ Google Bard เรียนรู้เพิ่มเติม ถ้ามีก็สามารถนำมาใส่ลงไปได้ด้วย
ถ้าเขียน Prompt โดยยึดองค์ประกอบเหล่านี้ รับรองว่าช่วยให้สามารถเขียน Prompt ออกมาแล้วได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการมากขึ้นอย่างแน่นอน
Google Bard มี Extension อะไรบ้าง
ที่มาภาพ:
https://blog.google/products/bard/google-bard-new-features-update-sept-2023/
ใครที่ใช้ Google และผลิตภัณฑ์ของ Google เป็นประจำอยู่แล้ว น่าจะแฮปปี้กับการใช้งาน Google Bard อย่างแน่นอน เพราะ Bard มีฟีเจอร์ Extensions ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปต่างๆ ของ Google ได้ เช่น Google Drive, YouTube, Gmail, Google Fights, Google Map ฯลฯ โดยใช้ Google Bard ในการถามและค้นหาคำตอบจากผลิตภัณฑ์ของ Google ได้เลย เช่น
- ค้นหาข้อมูลจาก Google Drive ที่ปกติจะต้องเข้าไปเปิดค้นหาไฟล์ต่างๆ เองก็อาจจะถามกับ Google Bard เพื่อให้ช่วยค้นหาไฟล์นั้นได้ เช่น “Find my [document] from my Drive and summarize it to [task]” ซึ่งนอกจากจะช่วยหาไฟล์แล้วยังช่วยทำให้งานที่คุณต้องการจากไฟล์นั้นๆ เกิดผลลัพธ์ที่รวดเร็วมากขึ้นด้วย
- ค้นหาข้อมูลสำหรับท่องเที่ยว ที่ปกติคุณอาจจะต้องแยกส่วนในการวางแผนการท่องเที่ยวเป็นส่วนๆ เช่น จองไฟล์ทบิน ดูวิดีโอรีวิว เช็กเมลจองที่พัก ฯลฯ แต่ถ้าใช้ Google Bard คุณจะสามารถทำทุกอย่างได้ภายในที่เดียว หรืออาจจะสั่งการได้ภายในครั้งเดียวเลย
สำหรับวิธีการเปิดใช้งาน Extension ให้คลิกที่รูปจิ๊กซอว์ที่อยู่มุมขวามือ และเลือกผลิตภัณฑ์ของ Google ที่ต้องการเชื่อมต่อกับ Google Bard ได้เลย
แนะนำฟีเจอร์ Double-check a response
นอกจากการเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ของ Google ที่ผมพูดถึงไปแล้วยังมีฟีเจอร์เด็ดอีกอย่าง นั่นคือ “Double-check a response” เป็นตัวช่วยในการเช็กข้อมูลที่ทาง Google Bard ให้มา (ซึ่งตอนนี้ใช้กับภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดีครับ) ซึ่งหลังจากที่เราทำการกด Double-check a response ข้อมูลที่ทาง Google Bard ให้มาก็จะมีการขึ้นข้อมูล Reference ว่ามีความใกล้เคียงกับข้อมูลจากเว็บไซต์ไหนบ้าง
หรือถ้าข้อมูลส่วนไหนหาไม่เจอว่ามีความเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ไหนก็จะมีแถบขึ้นมาเป็นสีส้มตามตัวอย่างด้านล่าง ก็ถือว่าสะดวกในการเช็กข้อมูลเพิ่มเติมว่า AI ให้ข้อมูลที่มีที่มาหรือเปล่า และมีความถูกต้องแค่ไหนได้ด้วย
ตัวอย่างการใช้ Google Bard ในการทำงาน
มาดูวิธีการใช้งาน Google Bard กันบ้างดีกว่าครับว่าถ้าจะต้องนำ AI ตัวนี้ไปใช้งานเพิ่มเติมจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ยังไงบ้าง
ตัวอย่างการใช้ Google Bard ในการทำงานคอนเทนต์
สายคอนเทนต์ต้องชอบแน่ๆ ครับ เพราะ Google Bard สามารถช่วยคุณทำคอนเทนต์ได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในการเขียนบทความ SEO ที่สามารถเขียนคำสั่งให้ช่วยในการคิดชื่อ Title, ร่าง Outline, เติมเนื้อหา หรือเติมหัวข้อ รวมถึงการกระจาย Keyword Density ในบทความก็ได้ ลองมาดูตัวอย่างคำสั่งง่ายๆ กันเช่น
“Please only reply in Thai. Give 10 SEO title examples for the keyword “[**สิว**]”.
ผมเขียนคำสั่งให้ Google Bard ช่วยเขียนตัวอย่าง SEO title มา 10 ชื่อ [task] ใน Keyword เรื่อง สิว [context] ซึ่ง Google Bard ก็ให้คำตอบที่พอจะนำไปใช้งานต่อได้ ดังนี้ครับ
หรือถ้าจะต่อยอดออกมาเป็น Outline เพิ่มก็อาจจะเขียนคำสั่งเป็น “List Create the H1 -Generate the 8 H2 headers, each with 3 H3 subheadings and the 5 Questions that are most frequently asked when people search for “รักษาสิวด้วยตัวเองง่ายๆ ที่บ้านด้วยวิธีธรรมชาติ” on Google.”
จะเห็นว่าผมให้ Context ใน Task เยอะมากๆ เพื่อให้ Google Bard ทำงานออกมาได้ดังใจ จนออกมาเป็น…
จะเห็นว่ามีการเรียงหัวข้อ Heading มาให้เรียบร้อย พร้อมยกหัวข้อต่างๆ ที่มีการเลือก search term คือ คำที่ผู้คนค้นหามาประกอบด้วย พร้อมรายละเอียดว่าควรเขียนอะไรบ้าง ซึ่งก็ช่วยย่นระยะการทำงานได้ดีมากๆ เลยทีเดียว
ตัวอย่างการใช้ Google Bard ในการทำงาน SEO
ส่วนสาย SEO และการรับทำ SEO ก็สามารถใช้ Google Bard ในการทำงานได้ด้วยเหมือนกันนะครับ ยกตัวอย่าง เช่น ผมอยากให้ Google Bard ช่วยหา Backlink ให้หน่อย ผมก็เลยเขียนคำสั่งไปว่า “Find me a list of 10 websites that accept guest posting in the marketing niche, that would be relevant for guest posting for https://nerdoptimize.com/” ก็ได้คำตอบมาเป็นลิงก์เหล่านี้ครับ
ตัวอย่างการใช้ Google Bard ในการทำการตลาด
ในฝั่งการตลาดเองก็ใช้ Google Bard ได้หลายแบบเหมือน แต่ที่ผมใช้บ่อยๆ เลยคือการหา Trend หรือ Insight ยกตัวอย่างเช่น “Find the latest trends for สิว” ผมอยากรู้เทรนด์ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องสิว มาดูกันครับว่า Google Bard จะตอบว่าอะไร
จะเห็นว่ามีการบอกเลยว่าทุกวันนี้เทรนด์ของการรักษาสิวหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นิยมเป็นอะไรบ้าง ก็ช่วยพอให้เห็นเทรนด์และนำมาถามต่อในเรื่อง insight ต่างๆ ได้เหมือนกัน
เปรียบเทียบ Google Bard กับ ChatGPT
เอาล่ะครับ ใครที่ใช้ ChatGPT อยู่อาจจะสงสัยว่า จะใช้ Google Bard ด้วยดีไหม หรือจะเป็นสาวกใช้ ChatGPT ต่อไปดี มาดูความเหมือนและข้อแตกต่างระหว่าง Google Bard กับ ChatGPT ไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ
โมเดลภาษา (LLM)
Google Bard และ ChatGPT เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ทั้งสองโมเดลมีความสามารถในการสร้างข้อความ แปลภาษา เขียนเนื้อหาสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ และตอบคำถามได้จากข้อมูล แต่ก็จะมีความต่างอยู่เหมือนกันตรงที่ Bard ใช้ PaLM2 (Pathways Language Model version2 ) ที่ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ Google และ รองรับ programming languages มากกว่า 20 ภาษา และภาษาอื่นๆ อีก 40 ภาษา แต่อาจจะมีข้อจำกัดคือ อาจช้ากว่า GPT ในการประมวลผลข้อความ
ส่วน ChatGPT ใช้ Generative Pre-trained Transformer (GPT) ซึ่งสร้างข้อความที่มีความสมเหตุสมผลที่เหมือนมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ และเชื่อถือได้ แต่อาจสร้างข้อความที่ไม่เป็นความจริงหรือมีอคติได้ รวมถึงอาจไม่เข้าใจบริบทของข้อความทั้งหมด
การใช้งาน
Google Bard และ ChatGPT สามารถนำไปใช้ในหลากหลายวิธี เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อทุ่นแรงและสร้างเนื้อหา รวมถึงตอบคำถามตามคำสั่งที่ต้องการได้ แต่ทั้ง 2 เครื่องมืออาจจะเหมาะกับงานที่ต่างกันบ้าง อย่าง Google Bard จะเหมาะสำหรับงานที่ต้องการความถูกต้องและข้อมูล ตัวอย่างเช่น สามารถใช้เพื่อสร้างรายงานทางธุรกิจ บทความวิชาการ หรือบทสรุปของหัวข้อที่ซับซ้อน ส่วน ChatGPT จะเหมาะสำหรับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น สามารถใช้เพื่อสร้างบทกวี โค้ด สคริปต์ ดนตรี เป็นต้น
ฟีเจอร์
มาเริ่มกันที่ฝั่ง Google Bard อย่างที่บอกไปแล้วว่า Google Bard มี Extention ที่เชื่อมต่อกับแอปต่างๆ ของทาง Google ได้ ทำให้เชื่อมโยงข้อมูลได้ง่าย และยังสามารถค้นหาข้อมูลใน Internet ได้แบบ Real-time เพราะข้อมูลดึงมาจากฐานข้อมูลอย่าง Google ที่เป็น Search Engine ขนาดใหญ่ เช่น จะค้นหาว่า serp คืออะไรก็สามารถค้นหาได้เลย จึงเหมาะมากกับการนำไปใช้กับงานที่ต้องการข้อมูลออนไลน์ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ มากมายที่สามารถใช้ได้ เช่น สามารถสรุปข้อมูลจากหน้า web page ได้, Export ข้อความผลลัพธ์ออกมาได้หลายแบบ เป็นต้น
ส่วน ChatGPT จะเข้าใจด้านภาษา และความหมายของประโยคจึงทำงานด้านการเขียน งานสร้างสรรค์ การแปลต่างๆ ได้ดี อีกทั้งมี Web browsing, Plugin และ Code interpreter ที่เลือกใช้งานเพิ่มเติมได้ทำให้ขยายขีดความสามารถของ AI ตัวนี้ไปได้อีกหลากหลายรูปแบบ แถม ChatGPT ยังสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็น search engine คือ ช่วยค้นหาข้อมูลต่าง ๆ โดยการเขียน Prompt
สรุป
Google Bard คือ เครื่องทุ่นแรงใหม่จาก Google ที่คนทำงานห้ามพลาดที่จะต้องลองใช้งานเลยครับ เพราะนี่คือ AI Chatbot ที่จะเข้ามาช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับงานในส่วนที่คุณไม่รู้ หรือช่วยทุ่นแรงในการทำงานด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเขียน Prompt Design ที่เป็นคำสั่งด้วยนะครับ ซึ่งก็สามารถนำแนวคิดและตัวอย่างที่ผมนำมาฝากในบทความนี้ไปลองปรับปรุงใช้ดูได้เลย ได้ผลหรือไม่ได้ผลยังไงเอากลับมาแชร์กันอีกรอบได้เลยนะครับ!