ระบบการทำงานของหลายธุรกิจในทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การใช้งานเครื่องมือต่างๆ ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังต้องเชื่อมต่อกับเครื่องมืออื่นๆ ภายนอกองค์กรที่ช่วยให้การทำงานนั้นง่ายขึ้นอีกมากมายนับไม่ถ้วน เช่น AI Tools ต่างๆ อย่าง ChatGPT, ระบบประมวลผล Machine Learning, CRM Management Tool ฯลฯ ซึ่งถ้าคุณมีซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันที่ต้องเชื่อมต่อเข้าหากันมากมาย ตัวกลางสำคัญที่ช่วยจัดการการเชื่อมต่อทั้งหมดก็คือ API Gateway
โดยในบทความนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันแบบชัดๆ ว่า ระบบ API คืออะไร Gateway ทําหน้าที่อะไร ทำไมถึงสำคัญ ไปจนถึงควรเลือกใช้ API Gateway ตัวไหนดี ถึงจะตอบโจทย์กับธุรกิจ มาทำความเข้าใจกับระบบของ API Gateway ไปพร้อมๆ กันได้เลย
API Gateway คืออะไร ?
ก่อนจะเข้าใจว่า API Gateway คืออะไร เราต้องเริ่มจากคำว่า API คือ Application Programming Interface หรือชุดคำสั่งที่ช่วยให้ระบบต่างๆ สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ เช่น เมื่อคุณต้องการให้ระบบ CRM ส่งข้อมูลไปยังระบบวิเคราะห์ข้อมูล หรือเชื่อมต่อกับโมเดล AI อย่าง Vertex AI คือ แพลตฟอร์ม Machine Learning จาก Google Cloud ซึ่งทุกการเชื่อมต่อแบบนี้จะเกิดขึ้นผ่าน API
ส่วน Gateway คือ ตัวกลางที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าควบคุมการเข้า-ออกของข้อมูล คล้ายกับประตูรักษาความปลอดภัยของระบบ เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็น API Gateway คือ ระบบที่ใช้ควบคุม จัดการ ตรวจสอบ และปกกันการเรียกใช้งาน API ทั้งหมดในระบบ ทั้งในด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความเสถียรนั่นเอง
ทำไม API Gateway ถึงมีความสำคัญ ?
ในระบบที่มีหลายฟังก์ชัน เช่น ระบบที่ใช้โมเดล AI, Chatbot, ระบบไมโครเซอร์วิส ฯลฯ การเรียกใช้งาน API จะซับซ้อนมากขึ้น และอาจเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพการทำงาน หรือการจัดการข้อมูลได้ง่าย นี่จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องใช้ API gateway เข้ามาช่วย
แล้ว API gateway ทำหน้าที่อะไร?
อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า API gateway ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของข้อมูล จึงมีความสำคัญมากในระบบธุรกิจปัจจุบันที่ต้องเชื่อมต่อกับระบบทั้งภายในและภายนอกมากมาย เช่น
- เชื่อมจุดเชื่อมต่อทุก API ให้อยู่ภายใต้การควบคุมเดียว
API gateway ช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการระบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณใช้ทั้ง Dialogflow คือ เครื่องมือสร้างแชตบอต และ AutoML สำหรับฝึกโมเดล AI คุณจะสามารถควบคุม API ทั้งหมดผ่าน API Gateway เดียวกันได้เลย
- เพิ่มความปลอดภัยให้การเรียกใช้งาน API
ป้องกันการโจมตี เช่น DDoS หรือการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดย API Gateway จะจัดการเรื่อง Authentication และ Rate Limiting ให้ได้
- API gateway จะเหมาะกับระบบที่ต้องเรียกใช้ข้อมูลจากหลายโมเดล AI พร้อมกัน
เช่น ธุรกิจใช้ระบบแนะนำสินค้าโดยใช้ Deep Learning คือ เทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Machine Learning, การใช้ระบบประมวลผลภาษาจากโมเดลอย่าง SearchGPT หรือการใช้ Perplexity ที่ต้องจัดการคำขอ (Requests) จากหลาย API พร้อมกัน ฯลฯ API gateway จะเข้ามาช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ เหล่านี้ให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
คุณสมบัติที่สำคัญของ API Gateway มีอะไรบ้าง?
เมื่อต้องออกแบบระบบที่มีการเรียกใช้ API หลายตัวพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบ AI, ระบบหลังบ้านของแอปพลิเคชัน, บริการไมโครเซอร์วิสต่างๆ หนึ่งในคำถามที่คนทำระบบมักเจอคือ คุณสมบัติที่สำคัญของ API Gateway มีอะไรบ้าง?
มาดูคุณสมบัติหลักที่ควรมีใน API Gateway ที่เหมาะจะนำมาใช้งานกับธุรกิจไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า
การแคชข้อมูล
การแคช (Caching) คือการเก็บผลลัพธ์ของข้อมูลไว้ชั่วคราว เพื่อที่ระบบจะไม่ต้องดึงหรือประมวลผลข้อมูลเดิมซ้ำๆ ทุกครั้งที่มีการเรียก API ซึ่งการที่ API Gateway มีระบบแคชข้อมูลในตัวจะช่วยลดจำนวนคำสั่งที่ต้องส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์จริง และส่งผลให้ลดภาระของระบบหลังบ้าน เพราะไม่ต้องประมวลผลข้อมูลเดิม ช่วยเพิ่มความเร็วในการเรียกข้อมูล และช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น CPU, ฐานข้อมูล ฯลฯ ซึ่งระบบ API Gateway ที่ดี เช่นในบริการ Google Cloud หรือโซลูชัน Open Source หลายตัว จะสามารถกำหนดได้ว่าข้อมูลไหนควรแคช และควรเก็บไว้นานแค่ไหนได้
ควบคุมระบบ Security
การยืนยันตัวตน (Authentication) และการกำหนดสิทธิ์ (Authorization) ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยเท่านั้น แต่คือ การควบคุมว่าใครควรเข้าถึงอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในระบบที่มี API หลายตัวถ้าไม่มีการยืนยันตัวตน ใครก็เรียก API ได้ แน่นอนว่าจะทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของระบบตามมา
ดังนั้น API Gateway จึงทำหน้าที่เป็นด่านแรกที่ตรวจสอบว่าผู้ใช้มีสิทธิ์หรือไม่ เช่น ใช้ API Key, JWT Token, ระบบ OAuth ฯลฯ ก่อนจะปล่อยให้เข้าถึง API ตัวจริง และยังช่วยกำหนดสิทธิ์ได้ตามกลุ่มผู้ใช้งาน เช่น แอดมินเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างได้, ลูกค้าเข้าถึงแค่ข้อมูลของตัวเอง เป็นต้น จึงเหมาะมากกับระบบที่เปิดเผย API สู่ภายนอก เช่น เปิด API ให้ Partner หรือเชื่อมต่อกับบริการอย่าง Dialogflow, AutoML, ระบบ Third-party ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่มีการยืนยันตัวตนอาจถูกใช้งานเกินสิทธิ์หรือเป็นช่องโหว่ให้ระบบถูกโจมตีได้ง่าย
การจัดการ Request Routing
API Gateway ต้องสามารถกำหนดได้ว่า เมื่อมีคำขอเข้ามา (Request) จากผู้ใช้งาน ควรส่งต่อไปยังบริการหรือ API ตัวใด เช่น แยกเส้นทางสำหรับ Dialogflow, ระบบ Login, ระบบแสดงผลสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบส่ง Request จากผู้ใช้ไปถูกที่ ถูก API และทำงานได้ถูกต้อง โดยที่ระบบเบื้องหลังจะซับซ้อนแค่ไหนผู้ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการระบบด้วยตัวเองให้ยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าเบื้องหลังมี API กี่ตัว แค่ส่งมาที่ Gateway แล้ว Gateway แยกเส้นทางให้อัตโนมัติ
การจัดการ Rate Limiting & Throttling
API Gateway ควรมีคุณสมบัติในการควบคุมปริมาณการใช้งานของ API หรือที่เรียกว่า Rate Limiting และ Throttling เพื่อป้องกันไม่ให้ API ถูกเรียกใช้งานมากเกินไปในช่วงเวลาสั้นๆ จนระบบรับไม่ไหวหรือถึงขั้นล่มได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันการโจมตีแบบ DDoS (Distributed Denial of Service) ที่ผู้ไม่หวังดีส่งคำขอจำนวนมากมาถล่มระบบให้ล่ม อีกทั้งยังช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบโดยรวม และควบคุมไม่ให้ผู้ใช้เรียก API ถี่เกินความเหมาะสมได้อีกด้วย
เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
ในระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก หรือมีการเรียกใช้ API พร้อมกันจากหลายแหล่ง API Gateway มีบทบาทสำคัญในการทำให้ระบบสามารถตอบสนองได้เร็วและเสถียรผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Load Balancing
Load Balancing คือการกระจายคำขอ (Request) จากผู้ใช้งานไปยังเซิร์ฟเวอร์หรือ API Backend ที่มีทรัพยากรว่างอยู่มากที่สุด หรืออยู่ใกล้กับผู้ใช้งาน เพื่อให้การตอบสนองเร็วขึ้น และไม่ทำให้เซิร์ฟเวอร์ตัวใดตัวหนึ่งรับโหลดหนักจนล่ม
ซึ่งการทำ Load Balancing ผ่าน API Gateway ช่วยลดโอกาสที่ระบบจะล่มจากโหลดสูงโดยเฉพาะในช่วงที่มี Traffic พุ่ง เช่น Flash Sale, การเปิดระบบใหม่, เวลามีแคมเปญการตลาด และถ้ามี API Server กระจายอยู่หลายประเทศ ระบบสามารถส่งผู้ใช้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้แบบอัตโนมัติอีกด้วย
ตัวอย่าง API Gateway ที่ได้รับความนิยมสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน
ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรขนาดเล็กที่ต้องการควบคุมต้นทุน หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องรองรับระบบ AI, Machine Learning หรือ Microservices การเลือก API Gateway ที่เหมาะสมจะช่วยให้การจัดการ API ทั้งหมดเป็นเรื่องง่ายขึ้น ทั้งด้านความปลอดภัย ความเร็ว และการขยายระบบในอนาคต มาดูกันว่า API Gateway ที่ได้รับความนิยมสูงที่ธุรกิจนิยมเลือกใช้มีตัวไหนบ้าง ดังต่อไปนี้
Amazon API Gateway
Amazon API Gateway คือ บริการจาก AWS (Amazon Web Services) ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้าง, จัดการ, เผยแพร่, รักษาความปลอดภัย และตรวจสอบ API ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าคุณจะใช้งาน RESTful API, WebSocket API หรือ HTTP API ก็สามารถตั้งค่าทุกอย่างได้จากจุดเดียวผ่านหน้า Console หรือ CLI
Amazon API Gateway ถูกออกแบบมาเพื่อลดความยุ่งยากในการจัดการ API ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในระบบที่มีการรับ-ส่งข้อมูลจำนวนมาก หรือมีผู้ใช้งานเรียกใช้ API พร้อมกันในปริมาณสูง รวมถึงธุรกิจที่รันอยู่บน AWS หรือกำลังมองหาโซลูชัน API Gateway ที่พร้อมใช้งานในระดับองค์กร
จุดเด่นของ AWS API Gateway
- บริหารจัดการ API ได้จากจุดเดียว: รองรับทั้ง REST API และ WebSocket API โดยสามารถตั้งค่า Routing, Authorization และ Caching ได้ในตัว
- ควบคุม Access Control: โดยควบคุมได้ทั้งการใช้ API Key, Lambda Authorizer, IAM Role และ OAuth2 ทำให้ควบคุมสิทธิ์การใช้งานได้ละเอียดตามกลุ่มของ User ที่กำหนด
- ป้องกันโหลดสูงและรองรับการ Scale อัตโนมัติ: ระบบสามารถขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้งานโดยไม่ต้องปรับโครงสร้างเอง เหมาะกับระบบที่มี Traffic สูงแบบไม่แน่นอน
- รองรับการเชื่อมต่อกับ AWS Lambda และบริการอื่นใน AWS Ecosystem: เช่น DynamoDB, S3, CloudWatch ทำให้การสร้าง Workflow อัตโนมัติ หรือ Microservices เป็นไปได้อย่างไร้รอยต่อ
- มอนิเตอร์และวิเคราะห์ได้ละเอียดผ่าน CloudWatch: ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบการใช้งาน, ความเร็วในการตอบสนอง และ Error ต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์
Apigee (โดย Google Cloud)
Apigee คือ API Gateway ที่พัฒนาโดย Google Cloud ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้าง, จัดการ, เผยแพร่ และรักษาความปลอดภัยของ API โดยเน้นในด้านประสิทธิภาพ
Apigee จะรองรับทั้ง REST, SOAP และ GraphQL API แถมมีเครื่องมือครบถ้วนสำหรับการออกแบบ ทดสอบ และติดตามการใช้งาน API แบบครบวงจร ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่ต้องการความโปร่งใสในการจัดการ API และการควบคุมการเข้าถึงแบบละเอียดอย่างในองค์กรขนาดใหญ่และการปรับปรุงระบบที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง
จุดเด่นของ Apigee
- รองรับ API หลากหลายประเภท: Apigee รองรับการสร้างและจัดการ API ทั้ง REST, SOAP และ GraphQL ทำให้สามารถใช้งานร่วมกับระบบแบบดั้งเดิมและระบบสมัยใหม่ได้อย่างยืดหยุ่น
- เป็นเครื่องมือครบวงจรสำหรับ Developer: เนื่องจากมีฟีเจอร์สำหรับการออกแบบ (API Design), การสร้าง Mock API, การตั้งค่า Policy และทดสอบ API ก่อนเปิดใช้งานจริงได้ จึงช่วยลดเวลาพัฒนาและลดความผิดพลาดในการเชื่อมต่อระบบได้ค่อนข้างมาก
- ฟีเจอร์ด้าน Security และ Abuse Detection: ช่วยกำหนดสิทธิ์ผู้ใช้งานผ่าน API Key หรือ OAuth2 รวมถึงสามารถตรวจจับพฤติกรรมการใช้งานที่ผิดปกติได้อีกด้วย
- มีระบบ Monitoring & Analytics ขั้นสูง: Apigee มีแดชบอร์ดแสดงผลการใช้งาน API แบบละเอียด ทั้ง Response Time, Error Rate และ Traffic Trends
- มีฟีเจอร์ Traffic Management: ช่วยให้ควบคุมโหลดของ API ได้แบบเรียลไทม์ และยังสามารถเปิด API ให้กับ Partner หรือ 3rd Party เพื่อสร้างรายได้แบบ API Economy ได้ผ่านฟีเจอร์ Monetization ที่ Apigee มีให้ในตัว
Kong API Gateway
Kong เป็น API Gateway ที่พัฒนามาในรูปแบบ Open Source ซึ่งหมายความว่าใครก็สามารถใช้งานและปรับแต่งได้ฟรี โดย Kong ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับระบบที่ซับซ้อน เช่น ไมโครเซอร์วิสที่เป็นรูปแบบการพัฒนาระบบที่แยกบริการออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและพัฒนา ดังนั้น Kong จึงเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการ ความยืดหยุ่นในการติดตั้ง เพราะสามารถใช้งานได้ทั้งแบบติดตั้งในระบบของตัวเอง (On-Premise) หรือใช้ร่วมกับระบบคลาวด์ต่างๆ ได้ เช่น AWS, Google Cloud หรือจะใช้แบบผสมกัน (Hybrid Cloud) ก็ได้เช่นกัน
จุดเด่นของ Kong API Gateway
- มีให้เลือกทั้งเวอร์ชัน Open Source และ Enterprise: รองรับทั้งผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการใช้งานฟรี และองค์กรที่ต้องการฟีเจอร์ระดับสูง
- มีปลั๊กอินด้านความปลอดภัยที่ครบครัน: มีปลั๊กอินที่ช่วยในการยืนยันตัวตนและควบคุมการเข้าถึง เช่น Basic Authentication, LDAP Authentication HMAC Authentication ฯลฯ ซึ่งช่วยให้สามารถปรับใช้ตามความต้องการเฉพาะของระบบได้
- ควบคุมการใช้งาน API ได้แบบละเอียด: การใช้ปลั๊กอิน Rate Limiting และการจัดกลุ่มผู้บริโภค (Consumer Groups) ช่วยให้สามารถกำหนดขีดจำกัดการใช้งาน API ตามกลุ่มผู้ใช้หรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยป้องกันการใช้งานเกินขีดจำกัดและรักษาเสถียรภาพของระบบ
- มีฟีเจอร์ Monitoring & Logging พร้อมใช้: ช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งาน API ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบได้อย่างต่อเนื่อง
- มีความยืดหยุ่นสูง ติดตั้งได้ทุกแบบ: ใช้งานได้ทั้งแบบ On-Premise, Cloud, Hybrid หรือ Multi-Cloud จึงสามารถใช้งานร่วมกับระบบขนาดเล็กจนถึงระดับองค์กรขนาดใหญ่ได้
- รองรับการทดสอบ API และ Mocking: มีปลั๊กอินสำหรับการจำลอง API (Mocking) ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถทดสอบและพัฒนาระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องมี API จริง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนา
Azure API Management
Azure API Management (APIM) คือ บริการจาก Microsoft Azure ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการ API ได้อย่างครบวงจร ทั้งการสร้าง (Create), เผยแพร่ (Publish), ปกป้อง (Secure) และติดตามการใช้งาน (Monitor) API ได้จากแพลตฟอร์มเดียว นอกจากนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อ API จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบเดิม (Legacy Systems), ระบบใหม่ที่พัฒนาด้วยไมโครเซอร์วิส หรือแม้แต่โมเดล AI และแอปพลิเคชันบนคลาวด์ ทำให้ Azure APIM เหมาะกับองค์กรที่ต้องการรวมศูนย์การจัดการ API ในระบบที่มีความซับซ้อนสูง
จุดเด่นของ Azure API Management (APIM)
- บริหารจัดการ API ได้จากศูนย์กลาง: หากใช้งานผ่าน Azure Portal จะสามารถควบคุมและจัดการ API ทั้งหมดจากที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น REST, SOAP หรือ GraphQL
- มี Developer Portal สำหรับเอกสาร API และการทดสอบ: Azure APIM มาพร้อม Developer Portal ที่ให้ทีมพัฒนาและพันธมิตรเข้ามาอ่านเอกสาร, ทดลองเรียก API และขอ API Key ได้ด้วยตัวเอง
- ควบคุมการเข้าถึง API ได้อย่างละเอียด: รองรับการยืนยันตัวตนผ่าน OAuth2, Subscription Key และ JWT Token รวมถึงกำหนดระดับการเข้าถึงตามกลุ่มผู้ใช้
- เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ด้วย Policy: Azure APIM มีระบบ Policy สำหรับกำหนดเงื่อนไข เช่น Rate Limiting, IP Filtering, Header Modification, Caching ฯลฯ ที่สามารถกำหนดให้แต่ละ API Endpoint ได้แบบเฉพาะเจาะจง
- รองรับ Hybrid และ Multi-Region Deployment: สามารถ Deploy ตัว API Gateway ได้ทั้งแบบ Cloud ล้วน, Hybrid หรือข้ามภูมิภาค เพื่อให้บริการผู้ใช้งานทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
- เชื่อมต่อกับบริการอื่นใน Azure Ecosystem ได้เต็มรูปแบบ: ไม่ว่าจะเป็น Azure Functions, Logic Apps, Application Gateway, Azure AD, หรือ Key Vault
ข้อควรระวังก่อนเริ่มนำ API Gateway มาใช้งานในธุรกิจของคุณมีอะไรบ้าง ?
ก่อนที่คุณจะตัดสินใจติดตั้งหรือเลือกใช้ API Gateway สำหรับธุรกิจควรพิจารณาถึงข้อจำกัดเหล่านี้ก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะกระทบต่อระบบและการดำเนินธุรกิจโดยรวม โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องพึ่งพาระบบอัตโนมัติหรือการใช้ AI คือ Artificial Intelligence เป็นหลัก
- เลือกเครื่องมือที่ไม่เหมาะกับขนาดของระบบ: หากเลือก API Gateway ที่ออกแบบมาสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แต่นำมาใช้กับระบบขนาดเล็กก็ทำให้เปลืองทรัพยากรไปแบบไม่จำเป็น
- ไม่ได้ออกแบบให้รองรับการเติบโตของ AI Integration: ในธุรกิจที่เริ่มใช้ AI Marketing เช่น ระบบแนะนำสินค้าแบบอัตโนมัติ หรือการทำ Personalization แบบเรียลไทม์ หาก Gateway ไม่รองรับโหลด API จากหลายโมเดล AI พร้อมกันก็อาจกลายเป็นจุดติดขัดแทนที่จะช่วยผลักดันแผนการตลาด
- ค่าใช้จ่ายแฝงในระบบ Cloud: API Gateway บางตัว โดยเฉพาะแบบ Cloud-based จะคิดค่าบริการตามจำนวน Request หากไม่ได้วางแผนดีๆ อาจมีค่าใช้จ่ายที่บานปลายได้เช่นกัน
- ขาดการควบคุมและมอนิเตอร์ที่ดี: หากไม่เปิดใช้ระบบ Logging และ Monitoring อย่างเหมาะสม จะทำให้ยากต่อการตรวจสอบเมื่อระบบขัดข้อง หรือ API ตอบสนองช้า
- ลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของ API ภายใน: หลายองค์กรเน้นแค่ป้องกันภายนอก แต่ลืมว่า API ภายในก็ต้องมีการกำหนดสิทธิ์และเข้ารหัสอย่างเคร่งครัดด้วย
สรุป API Gateway คืออะไร เหมาะจะใช้งานในธุรกิจคุณตอนนี้เลยหรือไม่
ยิ่งในยุคที่หลายธุรกิจต้องพึ่งพาโมเดล AI อย่าง ChatGPT สำหรับการโต้ตอบลูกค้า หรือโมเดลจากฝั่ง Google อย่าง Gemini ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลระดับลึก ไปจนถึงแอปพลิเคชันและ Tool อีกมากมายหลายตัวในการทำงาน API Gateway ก็เข้ามามีบทบาทช่วยให้การเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกนั้นง่ายและสะดวกมากขึ้น
ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจว่า API Gateway คืออะไร ทําหน้าที่อะไร รวมถึงจะเลือกใช้ API Gateway ที่เหมาะสมได้อย่างไรบ้างทั้งในด้านการเลือกดูเครื่องมือที่เหมาะกับธุรกิจ ไปจนถึงการเรียนรู้ถึงข้อควรระวังในการใช้งาน
ซึ่งการเลือกใช้งานนั้นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ เป้าหมายของการใช้ ไปจนถึงระบบที่มีอยู่เดิมและสิ่งที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติมว่าเป็นไปในทิศทางไหน และถ้าหากมีการวางแผนการใช้ API Gateway ให้ดีได้ตั้งแต่ต้น คุณจะได้เครื่องมือที่ไม่เพียงแต่เชื่อมต่อระบบได้อย่างลื่นไหล แต่ยังสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจได้อย่างมั่นคงอีกด้วย