เรื่องของ Canonical tag เป็นอีกเรื่องที่คนทำ SEO และคนที่ดูแลเว็บไซต์ต้องทำความรู้จักและทำให้เป็น เพราะเมื่อรันเว็บไซต์ไปเรื่อย ๆ ก็มีโอกาสที่เราจะทำเว็บเพจหรือบทความที่มีเนื้อหาคล้าย ๆ กัน ไปจนถึงการทำบทความที่ใช้ Keyword ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อ SEO บอทของ Google ไม่รู้ว่าควรจะจัดอันดับให้กับหน้าเพจไหนกันแน่ เพจไม่ติดอันดับ Traffic โดยรวมของเว็บไซต์ก็อาจลดฮวบลงอีก
เป็นหน้าที่ของคนทำ SEO หรือเจ้าของเว็บไซต์ที่จะต้องชี้ให้ Google รู้ว่า หน้าเพจนี้ไหน คือ หน้าเพจต้นฉบับ (Original) ที่เราต้องการให้คนเข้ามาเยี่ยมชม
แล้ว Canonical tag คืออะไร / Canonical URL คืออะไร วิธีติดตั้ง Canonical tag ให้หน้าเพจทำยังไงได้บ้าง ข้อควรระวังล่ะ? สรุปเรื่องต้องรู้มาแชร์กันในบทความนี้ครับ
Canonical Tag คือ
Canonical tag คือ โค้ด (rel=“canonical”) ที่ทำหน้าที่เป็นป้ายบอกให้ Search Engine รู้ว่า URL หรือหน้าเพจที่อยู่ภายใต้ tag นี้คือหน้าเพจหลักของเว็บไซต์ เป็นหน้าเพจต้นฉบับ (Original page)
การทำ Canonical คือ การชี้หน้าเพจหลักบอก Search Engine เพื่อป้องกันไม่ให้ Search Engine มา Index ข้อมูลเว็บไซต์ของเราผิด เป็นหน้าเพจอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับหน้าหลัก (เรียกว่า Duplicate content) เพราะการที่เว็บไซต์ของเรามีหน้าเพจที่คล้ายคลึงกันมากเกินไป จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ในสายตาของ Google
การใส่ Canonical tags นั่นทำได้ง่าย เพียงแค่ระบุโค้ดหรือ Tag ตามตัวอย่างนี้ ลงไปในส่วน <head> ของหน้าเพจ นั่นคือ
<link rel=“canonical” href=“https://example.com/sample-page/” />
Canonical Tag vs Canonical URL
จากโค้ดตัวอย่างข้างต้น Canonical tag มีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ซึ่งคนมักเรียก 2 อย่างนี้สับสนกัน ได้แก่ 1) Canonical tag และ 2) Canonical URL
- link rel=“canonical”: คือ Tag ที่ใช้ระบุว่า ลิงก์ URL ข้างหลัง Tag นี้ คือ หน้าเพจหลัก
- href=“https://example.com/sample-page/”: คือ ส่วนที่เรียกว่า “Canonical URL” หรือ “Canonical link”
Canonical URL คือ ลิงก์หน้าเพจหลักที่เราต้องการให้ Search Engine มา Index และเข้าใจว่า หน้านี้คือหน้าเพจ Original โดย Canonical URL จะต้องเป็น Exact URL หรือลิงก์เวอร์ชันเต็มเท่านั้น ระบุไว้ข้างหลัง href=“exact.url”
เพราะในมุมของ Bot Crawler จะมอง URL ที่เขียนแตกต่างกันว่าเป็นคนละหน้าเพจ (แต่ในมุมของผู้ใช้งาน เราจะเข้าใจว่าคือหน้าเพจเดียวกัน) ยกตัวอย่างเช่นหน้า Home page ที่มีหลากหลาย URL
- http://www.example.com
- https://www.example.com
- http://example.com
- http://example.com/index.php
- http://example.com/index.php?r…
วิธีการสร้าง Canonical Tags
1. ใส่ HTML tag (rel=canonical) ด้วยตัวเอง
การทำ Canonical tag ด้วย rel=canonical ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ก๊อบปี้โค้ดตัวอย่างด้านล่างนี้ไปใช้ วางไว้ในส่วนในหน้าโค้ด HTML ส่วน <head> section ของ Duplicate page หรือหน้าเพจที่มีเนื้อหาใกล้คล้ายคลึงกับหน้าหลัก แล้วอย่าลืมเปลี่ยน URL ตัวอย่างเป็น URL ของหน้าหลักแบบเป๊ะ ๆ
โค้ด Canonical tag: 👉<link rel=“canonical” href=“https://example.com/canonical-page/” />
ยกตัวอย่างเช่น
สมมติว่า เว็บไซต์ของคุณมีหน้าสินค้า คือ https://www.yourstore.com/men-shoe/ ที่อยากให้เป็นหน้าหลัก แต่ว่ามี URL อื่น ๆ ที่ถูก Index อยู่ใน Google เหมือนกัน แล้วคนสามารถเข้าหน้าเพจสินค้านั้นได้เหมือนกับ URL ลิงก์หลัก ก็ให้คุณใส่ Canonical tag บนหน้าเพจนั้นและหน้าเพจ Duplicate
ใส่โค้ดและ URL เป๊ะ ๆ ตามนี้ ไว้ในส่วน <head> ของหน้าเพจเหล่านั้น:
👉 <link rel=“canonical” href=“https://www.yourstore.com/men-shoe/” />
2. ระบุ Canonical tag ใน WordPress
สำหรับเว็บไซต์ของใครที่ทำผ่าน CMS เจ้าดังอย่าง WordPress ไม่จำเป็นต้องใส่ Canonical tag ด้วยตัวเองให้ยุ่งยาก (แม้จะง่ายแล้วก็ตามที แต่วิธีนี้ง่ายกว่าครับ) ทำได้ ดังนี้
- ติดตั้ง Plug-in Yoast SEO กับ WordPress
- เปิดไปที่หน้าเพจ Duplicate ที่ต้องการใส่ Canonical tag >> เลื่อนลงหาหน้าต่างเครื่องมือของ Yoast SEO แล้วคลิกที่ส่วนตั้งค่า “Advanced”
- จากนั้น ก็ใส่ Canonical URL แบบ Exact URL ในช่องตามรูป เป็นอันเรียบร้อย!
Canonical Tags สำคัญต่อการทำ SEO ยังไง
Canonical tag มักจะนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่อง Duplicate content ที่หมายถึง หน้าเพจที่มีเนื้อหาเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้ Bot crawler ของ Search Engine เข้ามาทำ Index เว็บไซต์และ URL ต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันเกิดความสับสน ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำ SEO
อย่างแรกคือบอทจะต้องทำการ crawl หน้าเพจเดียวกันหลาย ๆ URL ซึ่งมีโอกาสที่บอทจะพลาดลิงก์ที่เป็นหน้าหลัก หรือ Unique page ที่เราตั้งใจทำอันดับบนหน้า SERPs ก็ได้ ปัญหาต่อมาคือ เมื่อมี URL ให้บอททำ Index จำนวนมาก ก็ส่งผลต่อความสามารถในการทำอันดับโดยรวมของเว็บไซต์ (Ranking Ability) หรือก็คือ ทำให้เว็บไซต์ทำอันดับได้ยากขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ ต่อให้หน้าเพจของเราจะ Rank ได้อันดับดี ๆ แต่ยังมีปัญหาเรื่อง Dupliucate content ตัว Search Engine ก็อาจเลือก URL ที่ผิดเป็นหน้าเพจ Original ดังนั้น Canonical tag จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนทำ SEO หรือเจ้าของเว็บไซต์ติดป้ายแจ้งกับ Search Engine ว่า หน้าเพจไหนกันแน่ที่เป็นหน้าหลักที่อยากให้จัดอันดับ
ลักษณะของเว็บไซต์แบบใดที่ควรใช้ Canonical Tag?
แล้วหน้าเพจแบบไหนบ้างที่เราควรจะใส่ Canonical tag? โดยมากจะมีหน้าเพจอยู่ 3 ลักษณะด้วยกันที่เราจะเรียกใช้ Canonical tag ได้แก่
1. Duplicate content
หมายถึง หน้าเพจที่มีเนื้อหาที่เหมือนกับหน้าเพจหลัก หรือเป็นหน้าเพจที่เราโฟกัสทำ Keyword ซ้ำกันหรือใกล้เคียงกัน (จน Google เลือกไม่ถูกว่าต้อง Rank หน้าไหน) ให้เราใส่ Canonical URL ให้กับ Duplicate page หรือหน้าเพจที่ Keyword ชนกับหน้าหลัก
2. Similar content
ทำ Canonical กับหน้าที่มีรายละเอียดหรือข้อมูลคล้าย ๆ กัน กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับเว็บไซต์ขายสินค้าที่หน้าสินค้ามักจะมีรายละเอียดคล้ายคลึงกัน อาจจะต่างแค่สีหรือขนาดของสินค้า
3. URL parameters
ติดตั้ง Canonical tag ให้กับเว็บเพจที่มีการติดตั้ง UTM หรือ URL parameters สำหรับติดตามข้อมูลผู้ใช้งานเว็บไซต์ของเราในหลาย ๆ จุดประสงค์ด้วยกัน เนื่องจาก URL ที่ต่างกัน (แม้จะเป็นหน้าเพจเดียวกัน) ตัว Bot Crawler จะมองว่าต่างกัน เช่น
- http://example.com/product/men-shoe/
- http://example.com/product/men-shoe/?isnt=it-awesome
- http://example.com/product/men-shoe/?cmpgn=twitter
- http://example.com/product/men-shoe/?cmpgn=facebook
- http://example.com/product/men-shoe/utm_campaign=analytics-tools &utm_medium=banner&utm_source=friends
ควรใช้ Canonical Tags ตอนไหนบ้าง
นอกจากลักษณะเว็บเพจข้างต้นที่เราควรติดตั้ง Canonical tag ไว้แล้ว ยังมีกรณีที่หน้าเพจประเภทอื่น ๆ ก็เสี่ยงติดปัญหา Bot crawler สับสน และควรทำ Canonical ไว้ก่อน เช่น
- เมื่อหน้า Product และหน้า Product Category มี Tag หรือ Filter แยกย่อยเป็น URL ที่ต่างกัน เช่น หน้าเพจที่กดเปลี่ยนไซส์ เปลี่ยนสีสินค้า แล้วเด้งไปเป็นอีก URL ควรใส่ Canonical tag ไว้เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาในการ Index ของ Search Engine
- เมื่อหน้าเพจปรากฏในหลาย ๆ Category หรือ Tag คล้ายกับกรณีแรก บางหน้าเพจ เช่น บทความ หรือหน้าสินค้าบางตัว อาจตรงกับ Category หรือ Tag หลาย ๆ ตัวได้ Bot crawler จึงมีโอกาสเข้าถึงหน้าเพจนั้น ๆ ด้วย URL ที่ต่างกัน
คำแนะนำเพิ่มเติม: สำหรับหน้า Tag เป็นหน้าที่เว็บไซต์จะ Generate ขึ้นมาเอง เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งานเว็บไซต์ในการหาข้อมูลหรือหาคอนเทนต์อ่าน และเพื่อลดปัญหาเรื่องการทำ Index และ Ranking ที่สับสน หลายเว็บไซต์จึงมักติด Tag “No-index” สำหรับหน้า Tag ต่าง ๆ
ข้อควรระวังในการใช้ Canonical Tag คืออะไรบ้าง?
Google ได้สรุปสิ่งที่มักทำผิดพลาดในการทำ Canonical tag ไว้ 5 ข้อ อธิบายง่าย ๆ ถึงเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ทำ ตามนี้เลยครับ
1. ใส่ rel=canonical ยิงไปหน้าแรกของซีรี่ส์ (paginated series)
บางบทความหรือบางหน้าเพจ เราอาจออกแบบให้เป็น “ซีรี่ส์” หรือหน้าเพจที่มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน (paginated series) เช่น บทความ “Duplicate content คืออะไร (ตอนที่ 1)” และ “Duplicate content คืออะไร (ตอนที่ 2)” หรือตัวอย่างเช่น
- example.com/blog?story=cupcake-news&page=1
- example.com/blog?story=cupcake-news&page=2
- หรือหน้าถัด ๆ ไป
หลายคนอาจเข้าใจว่า กรณีนี้ คือ Similar Content กลัวว่า Google จะมองว่า เป็น Duplicate content จึงแก้ไขด้วยการใส่ Cononical URL เป็นบทความแรก ซึ่งการทำแบบนี้ จะทำให้หน้าอื่น ๆ ไม่ถูก Index ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาในหน้าเพจไม่ได้ซำ้ซ้อนกัน แต่เป็นเนื้อหาที่ต่อเนื่องต่างหาก
หากมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นสิ่งที่ควรทำ คือ การใส่ Markup Tag 2 ตัวนี้ ได้แก่ rel=“prev” หรือ/และ rel=“next” ให้กับหน้าเพจเหล่านั้นแทน วิธีใส่ก็เหมือนกับการใส่ rel=“canonical”
2. เขียน Canonical URL แบบย่อหรือแบบอ้างอิง
การใส่ Canonical URL นั้น Google แนะนำให้ใส่แบบ Exact/Absolute URL หรือลิงก์แบบเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าลิงก์ที่ใส่หรือไม่ใส่ http:// หรือ https:// จะสามารถเข้าถึงหน้าเว็บได้เหมือนกัน เช่นตัวอย่าง Canonical URL นี้
<link rel=canonical href=“example.com/cupcake.html” />
หมายถึง ให้ไปยัง URL หลัก http://example.com/example.com/cupcake.html
Google ก็บอกว่า การใช้ rel=canonical ในรูปแบบนี้อาจไม่ได้ผล
ตัวอย่างที่แนะนำและไม่แนะนำ:
- Recommended: <link rel=canonical href=”http://example.com/cupcake.html” />
- Not recommended: <link rel=canonical href=”cupcake.html” />
- Not recommended: <link rel=canonical href=”example.com/cupcake.html” />
3. ทำ rel=canonical โดยไม่ได้ตั้งใจหรือใส่หลายครั้ง
อีกข้อระวังหนึ่ง คือ การที่ใส่ rel=canonical หลายครั้งหรือซ้ำซ้อน โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ติดตั้ง Plug-in SEO ที่อาจแทรกลิงก์ rel=canonical ไว้โดยค่าเริ่มต้น หรือในกรณีที่มีผู้ดูแลเว็บหลายคนมาใส่ Tag โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบว่า หน้าเพจมีการทำ Canonical ไว้แล้ว
การประกาศ Canonical หลายครั้ง หรือมี rel=canonical มากกว่า 1 Tag Google จะเลือกมองข้ามการทำ Canonical ทั้งหมด เท่ากับว่า ไม่ได้ทำนั่นเอง
ดังนั้น ก่อนที่จะใส่ Canonical tag ทุกครั้ง ควรตรวจสอบดูที่ <head> ของหน้าเพจนั้น ๆ ก่อน ว่ามี rel=“canonical” อยู่หรือเปล่า
4. ใส่ rel=canonical ในส่วน <body>
หากใส่ rel=canonical ในส่วน <body> ระบบของ Google จะไม่สนใจโค้ดนี้
ตำแหน่งที่ควรใส่ rel=canonical มีเพียงส่วน <head> ของเพจเท่านั้น และควรใส่ไว้ให้อยู่ก่อนโค้ดหรือสคริปต์อื่น ๆ ที่เอามาติดตั้งไว้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ Bot เข้ามา Crawl เจอตั้งแต่แรก
5. ทำ Canonical ต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นลูกโซ่ หรือใช้ Tag แบบผสม
- ตัวอย่างการทำ Canonical แบบลูกโซ่: ใส่ rel=canonical ให้กับหน้า A → B และจากหน้า B → A หรืออีกรูปแบบคือ การใส่ rel=canonical ให้กับหน้า A → B จากหน้า B → C และจากหน้า C → D หรือต่อไปเรื่อย ๆ
- ตัวอย่างการใช้ Tag แบบผสม (Mixed Tags): ใส่ rel=canonical ให้กับหน้า A → B แล้วใส่ 301 redirect ให้กับหน้า B → A
การทำใส่แท็ก Canonical ในรูปแบบเหล่านี้ จะทำให้ Crawl Bot เกิดความสับสน หรือการ Index บทความไม่ถูกต้อง Tag ตีกันเอง ย่อมส่งผลเสียต่อการทำ SEO ของเว็บไซต์
หาก Traffic ลดไปแล้ว ก่อนที่จะใส่ Canonical Tag จะแก้ไขอย่างไร?
สำหรับเว็บไซต์ที่ Traffic ตกหรือ Ranking ของหน้าเพจหลักตกอันดับลงไปแล้ว ก่อนที่จะใส่ Canonical tag ต้องยอมรับว่า การกู้ Traffic และอันดับกลับมาเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีสิ่งที่อยากแนะนำให้ทำ เพื่อกู้ Traffic อันดับ และความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ในสายตาของ Google กลับมา ได้แก่
- ลบหน้าเพจที่ไม่สำคัญออกให้หมด เช่น หน้าที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น หน้าที่ไม่ค่อยมีคนเข้ามาดู หน้าที่ไม่มีประโยชน์อะไร โดยที่ก่อนลบให้เก็บ URL ของหน้าเหล่านั้นเอาไว้เพื่อทำ 301 Redirect ให้ที่คลิกหรือเข้าถึง URL ที่เราลบไปถูกส่งไปหน้าเพจหลักหรือหน้าเพจที่เราต้องการ
- ให้รีบทำ Canonical tags สำหรับหน้าเพจที่ยังจำเป็น แต่มีเนื้อหาคล้ายคลึงใกล้เคียงกัน เมื่อทำเสร็จให้เรียก Crawler ของ Google เข้ามา Index เว็บใหม่อีกครั้ง ทำได้ด้วยการ Inspect URL ผ่าน Google Search Console หรือส่งแผนผังเว็บไซต์ (Sitemap) ให้ Google
- ทำ Internal link ไปยังหน้าเพจหลักหรือหน้าเพจที่ต้องการกู้ Traffic และ Rank ด้วยการเขียนบทความใหม่แล้วแทรกลิงก์ไปยังหน้าเพจนั้น ๆ โดยหน้าเพจหรือบทความที่เขียนขึ้นใหม่ ต้องไม่ใช้ Keyword เดียวกันกับเพจที่เราจะลิงก์ไปหา แต่แนะนำว่า ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกัน
ทำ Backlink หรือส่งลิงก์จากภายนอกเว็บไซต์ของเรา ให้มาหาหน้าเพจหลักหรือหน้าเพจที่เราต้องการ จะช่วยเพิ่ม Traffic และความน่าเชื่อถือในสายตาของ Google ให้กับหน้าเพจนั้น ๆ
แนะนำ Plugin ที่ช่วยแก้ไข Canonical URLs
Plug-in ที่อยากจะแนะนำสำหรับการแก้ไขและทำ Canonical tag มีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน ซึ่ง Plug-in เหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือทำ SEO ที่มีชื่อเสียงและมีการอัปเดตเวอร์ชันอยู่เรื่อย ๆ และมียอด Active User หลักล้านขึ้นไป
(มี Plug-in อื่นที่ใช้สำหรับการทำ Canonical URLs โดยเฉพาะ แต่ไม่การอัปเดตล่าสุดค่อนข้างนานเป็นปี จึงไม่ได้แนะนำเอาไว้ เพราะกลัวว่าจะใช้งานไม่ได้ครับ)
- Yoast SEO Plug-in คู่บุญกับ WordPress เป็นเครื่องมือทำ SEO สำหรับเว็บไซต์ มีฟีเจอร์หลากหลาย โดยเฉพาะสำหรับการทำ On-page SEO แน่นอนว่า สามารถใส่ Canonical URL ได้อย่างง่ายดาย เป็นหนึ่งในวิธีที่แนะนำไปตั้งแต่ต้นบทความ
- AIOSEO หรือ All-in-One SEO ชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นเครื่องมือทำ SEO แบบครบลูป ซึ่งสำหรับคนที่ใช้ CMS อย่าง WordPress เมื่อติดตั้ง AIOSEO ก็จะได้เครื่องมือหน้าตาคล้ายกับ Yoast SEO ใช้งานง่าย ส่วนฟีเจอร์การใส่ Canonical URLs ของเจ้านี้ ก็หน้าตาเหมือนกับ Yoast SEO เลย และยังมีระบบป้องกัน Duplicate content ด้วยการใส่ Canonical URLs แบบอัตโนมัติด้วย
Rank Math SEO เช่นเดียวกับ AIOSEO เจ้านี้คือ Plug-in SEO โดยเฉพาะ จึงมีฟีเจอร์การใส่ Canonical URLs รวมไปถึง มีระบบ Auto Canonical URLs ที่ช่วยใส่ URLs หน้าหลักและป้องกันปัญหา Duplicate content ให้แบบอัตโนมัติ
สรุป
การทำ Canonical tags ให้เว็บไซต์ คือ การชี้เว็บไซต์บอกกับ Search Engine ว่า หน้าเว็บที่เราชี้คือหน้าเพจหลักที่เราต้องการให้ Google ทำการ Index ป้องกันการ Index หน้าเพจที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันและไม่ต้องการให้ทำอันดับแข่งขันกับหน้าหลักที่เราต้องการทำ เพื่อผลลัพธ์การทำ SEO ที่ดี
แต่ก่อนจะเกิดปัญหาเรื่องของ Keyword ชนกัน หรือ Duplicate content เราควรวางแผนการทำคอนเทนต์ การสร้างหน้าเพจ และวางแผน Keyword ให้ดีก่อน ให้ไม่ชนกันก่อน …เพราะหากเว็บไซต์ Traffic ร่วง หรืออันดับเพจตกลงมา อย่างไรการทำ Canonical เพื่อกอบกู้เว็บไซต์ให้กลับมาเหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลาอยู่ดี
อ้างอิง
https://moz.com/learn/seo/canonicalization
https://ahrefs.com/blog/canonical-tags/
https://developers.google.com/search/blog/2009/02/specify-your-canonical?hl=th
https://developers.google.com/search/docs/crawling-indexing/consolidate-duplicate-urls
https://developers.google.com/search/blog/2013/04/5-common-mistakes-with-relcanonical