Home - SEO - Site Structure คืออะไร จะออกแบบอย่างไรให้ดีต่อการทำ SEO

Site Structure คืออะไร จะออกแบบอย่างไรให้ดีต่อการทำ SEO

เมื่อพูดถึงการทำ SEO นอกจากการทำเนื้อหาบนเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพแล้ว การทำเว็บไซต์ให้ถูกใจ Google ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในปัจจุบันนี้ Google เข้มงวดกับการทำเว็บไซต์ที่ต้องตอบโจทย์กับ User Experience (UX) มากขึ้น ดังที่มีกฎของ Google อย่าง Core Web Vitals ที่ประกาศขึ้นเพื่อช่วยให้คะแนน UX ในเว็บไซต์ ซึ่งเว็บไซต์จะต้องปรับปรุงให้เข้าเกณฑ์กันอย่างจริงจังมากขึ้น 

ในบทความนี้เราเลยจะพามาดูอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้เว็บไซต์เป็นมิตรกับการทำ SEO มากขึ้น และถือเป็นเรื่องพื้นฐานเลยที่ทุกคนจำเป็นต้องทำนั่นคือ การทำ Site Structure ที่เป็นการปรับโครงสร้างของเว็บไซต์ให้ดีต่อทั้งการทำงานของ Google Bot และการใช้งานของมนุษย์ 

มาดูกันดีกว่าว่า Site Structure คืออะไร สำคัญอย่างไรกับการทำเว็บไซต์ มีรูปแบบไหนบ้าง และจะเริ่มต้นทำได้อย่างไร บทความนี้มีสรุปข้อมูลทั้งหมดให้กับคุณ

Site Structure คืออะไร ?

Site Structure คืออะไร

ที่มาภาพ: wiseseo

โครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure คือ แผนผังที่บอกว่าเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องอะไรและเชื่อมโยงถึงกันอย่างไรบ้าง โดยจะทำหน้าที่เหมือนกับแผนที่ซึ่งทำให้ Google Bot รู้ว่าเว็บไซต์นี้จัดระเบียบเนื้อหาในแต่ละหน้าลิงก์ของเว็บไซต์อย่างไร และแต่ละหน้ามีการเชื่อมโยง (Link) กันอย่างไร เพื่อทำให้เห็นว่า หากผู้ใช้งานในหน้าหนึ่งแล้วจะคลิกเข้าสู่หน้าอื่นนั้นจะทำได้อย่างไรบ้าง 

ซึ่งการทำ Site Structure นั้นมีประโยชน์ต่อทั้งการจัดเก็บข้อมูลของ Bot และการใช้งานของมนุษย์ ซึ่งถ้าทำให้ยุ่งยากซับซ้อนและไม่เป็นระเบียบก็มีโอกาสที่ Bot จะเข้าถึงข้อมูลได้ยาก ส่วนผู้ใช้งานก็อาจจะหาสิ่งที่ต้องการไม่เจอ และเลือกที่จะเลิกใช้งานเว็บไซต์นั้นๆ ไป

Site Structure สำคัญอย่างไร ?

ทำไมโครงสร้างเว็บไซต์หรือ Site Structure จึงสำคัญนั่นก็เพราะ…

  1. ช่วยทำให้ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์ใช้งานเว็บไซต์ที่ดี

เพราะ Google ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ User Experience การทำโครงสร้างเว็บไซต์ให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ง่าย สะดวก ย่อมทำให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจ และกลับมาใช้งานซ้ำเรื่อยๆ แน่นอนว่า เรื่องนี้ส่งผลต่อการจัดอันดับของ SERPs เนื่องจากเว็บไซต์มีความ Friendly ต่อผู้ใช้งานมากนั่นเอง

  1. Search Engine เข้าใจเว็บไซต์ของคุณมากขึ้น

เนื่องจากโครงสร้างเว็บไซต์หรือ Site Structure มีหน้าที่บอกว่าหน้าแต่ละหน้ากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ และหน้าแต่ละหน้าจะเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร เกี่ยวข้องกันแค่ไหน เมื่อ Bot เข้ามาทำการ Crawl ข้อมูลก็จะทำความเข้าใจกับเว็บไซต์ในแต่ละหน้าอย่างละเอียด โดยมีโครงสร้างเว็บไซต์เป็นเหมือนไกด์นำทางให้ หากไกด์ทำหน้าที่ดี ทุกหน้าก็จะถูกจัดเก็บข้อมูลโดยไม่เกิดการตกหล่น และถูกจัดอันดับอย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย

  1. ช่วยในการวางแผนด้านเนื้อหาบนเว็บไซต์

โครงสร้างเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้คนทำเว็บไซต์เห็นว่า ในแต่ละหน้าควรที่จะทำเนื้อหาเป็นแบบไหน ควรมีหัวข้ออะไร เพื่อทำการจัดกลุ่มเนื้อหาให้ผู้ใช้งานสามารถได้รับข้อมูลที่ต้องการอย่างสะดวกรวดเร็วที่สุด รวมถึงยังช่วยให้ทำการขยายเว็บไซต์ได้ง่าย เพราะทุกอย่างได้วางเอาไว้เป็นระบบที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายจึงไม่ต้องทำการรื้อเว็บไซต์หรือรื้อเนื้อหาเพื่อทำใหม่ทุกครั้งที่ต้องการขยายเว็บ

  1. เว็บไซต์มีโอกาสได้รับ Google Sitelinks มากขึ้น
เว็บไซต์มีโอกาสได้รับ Google Sitelinks มากขึ้น

ที่มาภาพ: seranking

โครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับ Google Sitelinks ซึ่งเป็นลิงก์ที่แสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับคำที่ค้นหา จะแสดงอยู่ด้านล่าง Title และ Meta Description ของหน้าเว็บไซต์หลักได้มากขึ้น โดย Sitelink นี้จะช่วยเพิ่มจำนวนการคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ (CTR) ช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัดเวลา และค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า เว็บไซต์นี้ได้รับความน่าเชื่อถือจาก Google รวมถึงช่วยสร้าง Brand Awareness ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

รูปแบบของ Site Structure คืออะไร ? มีแบบไหนบ้าง ?

รูปแบบโครงสร้างเว็บไซต์ (Site Structure) คือ การจัดวางรูปแบบของเนื้อหาเว็บไซต์ว่าจะมีการจัดเรียงเนื้อหาไปในทิศทางใด ซึ่งปกติจะมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ ได้แก่

  1. โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical site structure)
  2. โครงสร้างเว็บแบบเส้นตรง (Linear site structure)
  3. โครงสร้างเว็บแบบเชื่อมโยงอิสระ (Webbed site structure)
  4. โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database site structure)
  5. โครงสร้างเว็บไซต์แบบไซโล (Silo SEO Structure)

โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical site structure)

โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical site structure)

ที่มาภาพ: slickplan

โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical site structure) คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่พบได้มากที่สุด และยังเข้าใจได้ง่ายที่สุดด้วย เนื่องจากเป็น Site Structure ที่เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มีข้อมูลขนาดเล็กแค่ไม่กี่หน้า ไปจนถึงเว็บไซต์ที่มีหน้าจำนวนมาก เช่น เว็บไซต์ E-commerce เป็นต้น

โดยลักษณะของโครงสร้างเว็บไซต์จะมีรูปร่างเหมือนกับแผนผังต้นไม้ เริ่มจากหน้าแรกที่อยู่บนสุด แยกย่อยลงมาเป็นหน้ารองหรือหน้าย่อยที่จัดเป็นหมวดหมู่  (Category) และยังสามารถทำหน้าแยกจากหน้าย่อยเหล่านั้นลงไปได้อีกในลักษณะเรียงลำดับความสำคัญจากบนลงล่าง ซึ่งทำความเข้าใจได้ง่ายและช่วยทำให้ Google Bot มองเห็นความสัมพันธ์ของหน้าแต่ละหน้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย

โครงสร้างเว็บแบบเส้นตรง (Linear site structure)

โครงสร้างเว็บแบบเส้นตรง (Linear site structure)

ที่มาภาพ: slickplan

โครงสร้างเว็บแบบเส้นตรง (Linear site structure) คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่จะนำเสนอเนื้อหาแบบตามลำดับ โดยเริ่มจากหน้าแรก หรือหน้า Landing Page หลังจากนั้นก็จะเรียงลำดับเนื้อหาเป็นบทๆ 1,2,3,… ต่อกันไปตามลำดับ จึงเหมาะสำหรับธุรกิจที่มีเนื้อหาน้อย หรือต้องการเรียงลำดับเนื้อหาอย่างเป็นระบบ เช่น หน้าเนื้อหาที่ออกแบบมาให้เป็นบท โดยจะต้องอ่านจากหน้าแรกไปเรื่อยๆ, เนื้อหาของคอร์สออนไลน์, เนื้อหาบน E-Book เป็นต้น โดยประโยชน์ของการทำ Site Structure คือ เป็นแผนผังที่เข้าใจง่าย ทำง่าย และใช้การบำรุงรักษาที่ต่ำอีกด้วย 

โครงสร้างเว็บแบบเชื่อมโยงอิสระ (Webbed site structure)

โครงสร้างเว็บแบบเชื่อมโยงอิสระ (Webbed site structure)

ที่มาภาพ: slickplan

โครงสร้างเว็บแบบเชื่อมโยงอิสระ (Webbed site structure) คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทุกหน้า (ทั้งหน้าแรกและหน้าย่อย) เพื่อให้ทุกหน้าสามารถเข้าถึงได้ด้วยการคลิกน้อยที่สุด จึงเป็นรูปแบบของการวาง Site Structure ที่เหมาะกับการทำเว็บไซต์ E-Commerce ที่มีจำนวนหน้าย่อยค่อนข้างเยอะ แต่ก็สามารถคลิกกลับไปมาระหว่างหน้าต่างๆ ได้ในระยะอันสั้น 

ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ในรูปแบบนี้จึงไม่มีลักษณะที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับการทำ Internal Link ไปยังหน้าต่างๆ ของผู้สร้างเว็บไซต์ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งานได้มากที่สุด แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่ตรงที่เป็น Site Structure ที่ทำให้ใช้งานยาก หากขาดการวางแผนที่ดี และ Google อาจจะไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ในหน้าต่างๆ ได้ง่ายอีกด้วย

โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database site structure)

โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database site structure)

ที่มาภาพ: konstructdigital

โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database site structure) คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่วางแผนการทำจากล่างขึ้นบน เพื่อกำหนดว่าหัวข้อย่อยๆ (Subcategory) เหล่านี้ควรทำการจัดอยู่ในหมวดหมู่ (Category) ประเภทใด ซึ่งจะเหมาะกับเว็บไซต์ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูล เช่น เว็บไซต์ที่เป็นฐานข้อมูลของธนาคาร เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องทำการดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูลจากการค้นหาที่ต้องจัดเป็นระบบเอาไว้เพื่อให้เรียกใช้งานได้ง่ายนั่นเอง

โครงสร้างเว็บไซต์แบบไซโล (Silo SEO Structure)

โครงสร้างเว็บไซต์แบบไซโล (Silo SEO Structure)

ที่มาภาพ: ahrefs

โครงสร้างเว็บไซต์แบบไซโล (Silo SEO Structure) คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่จัดกลุ่มเนื้อหาผ่านการทำ Internal Link ไปมาในกลุ่มที่มีเนื้อหาประเภทเดียวกันเท่านั้น เพื่อให้ครอบคลุมเฉพาะกลุ่ม Keywords ที่ต้องการและตรงต่อจุดประสงค์ของการค้นหาในแต่ละหมวดหมู่ได้มากที่สุด 

เช่น คุณทำเว็บไซต์ขายของออนไลน์ คุณมีสินค้าหลายรายการ โดยแบ่งเป็นรองเท้า กางเกง และเสื้อ หากคุณทำหน้ารองเท้าสิ่งที่จะเชื่อมโยงไปยังหน้านี้ก็คือ รองเท้าแต่ละรุ่นเท่านั้น จะไม่มีการนำกางเกงยี่ห้ออื่นๆ มาเชื่อมโยงเข้ากับหน้ารองเท้าเด็ดขาด เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ใช้งานง่าย และประโยชน์สำหรับการทำอันดับเฉพาะคีย์เวิร์ดใดคีย์เวิร์ดหนึ่งด้วย 

การออกแบบ Site Structure ทำอย่างไร ?

ขั้นตอนออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ สามารถทำได้ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. เลือกเป้าหมาย

การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ที่จะประสบความสำเร็จคุณจะต้องรู้ก่อนว่า คุณทำเว็บไซต์นี้ไปทำไม เช่น ทำเพื่อขายสินค้า ทำเพื่อให้ข้อมูล ทำเพื่อเล่าประสบการณ์ รวมถึงต้องรู้ด้วยว่า ใคร คือคนที่จะเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อที่จะได้ออกแบบรายละเอียดของหน้าแต่ละหน้าได้ตรงกับ User Experience ได้มากที่สุด

  1. ดูวิธีการวาง Site Structure ของคู่แข่ง

หากไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์อย่างไร ให้ลองดูว่าคู่แข่งของคุณทำการจัดระเบียบข้อมูลบนเว็บไซต์อย่างไร มีกี่ส่วน และเชื่อมโยงกันอย่างไร โดยเน้นไปยังเว็บไซต์คู่แข่งสัก 4-5 เจ้าที่ทำอันดับบนหน้า Google ได้ดี ก็จะช่วยให้ได้ตัวอย่างของเว็บไซต์ที่ Google ชอบมาไว้เป็นต้นแบบในการออกแบบด้วย หลังจากนั้นก็อาจจะหยิบเอาส่วนที่ใช้ได้มาลองปรับปรุงเป็น Site Structure ของคุณเอง

  1. เลือกคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง

สำหรับหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการทำให้ติดอันดับด้วย SEO ให้ทำการรวบรวม Keyword ที่เกี่ยวข้องและแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดูว่าคีย์เวิร์ดไหนเหมาะที่จะนำมาใช้งานได้บ้าง โดยการทำ Keyword Research หลังจากนั้น จึงค่อยนำมาวางแผนว่า หน้าแต่ละหน้าของเว็บไซต์จะใช้คีย์เวิร์ดอะไรบ้าง

  1. จัดหมวดหมู่ทุกหน้า

ทำการจัดหมวดหมู่ (Category) ของหน้าเว็บไซต์แต่ละหน้าว่าอะไรคือหน้าหลัก อะไรคือหน้าย่อย แต่ละหน้าจะมีหัวข้อและเนื้อหาอย่างไรบ้าง และมีการเชื่อมโยงกันอย่างไร รวมถึงจะมีทั้งหมดกี่หน้าด้วย โดยมีหลักการในการจัดหมวดหมู่ ดังนี้

  • ไม่ว่าโครงสร้างของคุณจะซับซ้อนแค่ไหน ก็ควรที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าแต่ละหน้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่เกิน 3 คลิกจากที่ใดก็ได้บนเว็บไซต์
  • อย่าวางแผนหมวดหมู่ของ Site Structure ตาม Search Volume ของคีย์เวิร์ดเท่านั้น เพราะคำที่มี Search Volume มากก็มีคู่แข่งสูง แต่อาจจะเลือกใช้ Long-Tail Keyword เพื่อทำให้หน้านั้นๆ มีโอกาสในการติดอันดับมากขึ้น
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเว็บไซต์จะสามารถเพิ่มหมวดหมู่หลักและหมวดหมู่ย่อยใหม่ได้โดยไม่ต้องทำโครงสร้างใหม่ทั้งหมด
  1. ทำให้ URL มีโครงสร้างที่ชัดเจน

หลังจากที่คุณสร้าง Wireframe ของเว็บไซต์ทั้งหมดแล้ว ให้ทำการวางโครงสร้าง URL ที่เรียบง่ายและเป็นมิตรตามลำดับของหน้าแต่ละหน้าให้ชัดเจน ดังนี้

  • ใช้คำที่อ่านง่ายและทำให้ URL สั้นที่สุด
  • ใช้คำ Keyword ที่เกี่ยวข้องใน URL แต่หลีกเลี่ยงการยัดเยียดที่มากจนเกินไป 
  • ใช้ยัติภังค์ (-) แทนเครื่องหมายขีดล่าง (_)
  • สำหรับไซต์หลายภาษา ให้เพิ่มแอตทริบิวต์ hreflang พร้อมตัวบ่งชี้ภาษาในแต่ละ URL
  1. เชื่อมโยงแต่ละหน้าด้วยการทำ Internal Link

ทำการร่างแผนผังการเชื่อมโยงแต่ละเว็บเพจ หรือที่เรียกว่า Internal link โดยเชื่อมโยงตามลำดับความสำคัญของหน้าแต่ละหน้า เช่น หน้าไหนที่เป็นหน้าที่จะทำอันดับหรือมีความสำคัญมากก็ควรมี Internal Link ที่ทำไปยังหน้านั้นมาก และจะต้องมีความเกี่ยวข้องกันด้วย (ลองดูตัวอย่างการทำ Internal link ได้ที่ Internal Links คืออะไร แบบไหนดีแบบไหนไม่ดีบทความนี้มีคำตอบ !)

  1. สร้าง Navigation บนเว็บไซต์ที่เข้าใจง่าย

Navigation บนเว็บไซต์นั้นเป็นได้ทั้ง Menu Bar, Footer, Breadcrumbs, Header, ฟิลเตอร์ที่ใช้สำหรับการค้นหา ไปจนถึง Tag ต่างๆ ซึ่งเว็บไซต์ควรออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เรียงลำดับหัวข้อจากใหญ่ไปเล็กให้เห็นอย่างชัดเจน

  1. สร้าง Sitemap

Sitemap คือ แผนผังเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นสารบัญของเว็บไซต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ HTML Sitemap และ XML Sitemap ซึ่งประโยชน์และวิธีการทำ Sitemap และวิธีการทำนั้น เราเคยเขียนสรุปให้แล้ว ตามไปอ่านได้เลยที่ Sitemap คืออะไร ? ศึกษาความสำคัญของ Sitemap อีกหนึ่งองค์ประกอบของการทำ SEO

  1. ทดสอบเว็บไซต์

ทำการประเมินโครงสร้างเว็บไซต์ด้วยการมองจากมุมมองของผู้ใช้ก่อนที่จะทำการเผยแพร่จริง เพื่อดูว่า โครงสร้างและเนื้อหาต่างๆ ที่วางเอาไว้ทำงานตามจุดประสงค์ในการค้นหา และนำทางไปยังหน้าต่างๆ ตามที่ต้องการหรือเปล่า หรือมีจุดไหนที่ทำให้สับสนและต้องแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง และถ้าหากเผยแพร่เว็บไซต์ไปแล้วก็ยังสามารถทำการ Tracking เพื่อดูว่า เว็บไซต์ใช้งานได้ดีหรือไม่ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น Hotjar ที่จะช่วยดูว่า รูปแบบการใช้งานของ User เป็นอย่างไร เขาคลิกตรงไหนบ้าง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้หาจุดที่จะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ต่อไปในอนาคต

สรุป

โครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure คือ ปัจจัยสำคัญสำหรับการทำเว็บไซต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานและ Search Engine แต่ก็มักจะเป็นขั้นตอนที่หลายคนมองข้าม เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องมานั่งวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าก่อน แต่เชื่อเถอะครับว่า นี่เป็นกระบวนการที่ลงแรงทีเดียวแต่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามมาในภายหลังอย่างแน่นอน เพราะการรื้อเว็บไซต์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเลย 

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คุณควรที่จะไล่เรียง Site Structure ให้ครบและถูกหลักก็จะเป็นตัวช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับของกูเกิลได้ง่ายขึ้นอีกเยอะเลยครับ

ผู้เขียน

Picture of NerdOptimize Team
NerdOptimize Team
Tag:

แชร์บทความนี้:

บทความที่คุณ อาจสนใจ

[Manychat Tutorial] ข้อแตกต่างระหว่าง Buttons กับ Quik Reply ที่หลายคนสับสน

บทความจะอธิบายเกี่ยวกับ Feature ของ Manychat ระหว่าง Quik Reply กับ Buttons ซึ่งหลายๆท่านอาจจะสับสนว่ามันคืออะไร แล้วจะใช้งานอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

อ่านบทความ ➝
Ubersuggest คืออะไร รีวิวเครื่องมือ SEO ฟรีที่มือใหม่ก็ใช้งานได้

Ubersuggest คืออะไร รีวิวเครื่องมือ SEO ฟรีที่มือใหม่ก็ใช้งานได้

แนะนำเครื่องมือทำ SEO ที่มือใหม่ก็ใช้ได้ คือ Ubersuggest เครื่องมือฟรี ที่ใช้งานหา Keyword ภาษา ไทยได้ มาดูกันว่าใช้งานอะไรได้บ้าง

อ่านบทความ ➝
Google Lighthouse คืออะไร

Google Lighthouse คืออะไร เครื่องมือฟรีสำหรับสาย SEO อยากทำเว็บให้ปังไม่ควรพลาด

Google Lighthouse คือ เครื่องมือตรวจสอบเว็บไซต์ฟรี เหมาะสำหรับคนทำเว็บสาย SEO ที่ต้องการเครื่องมือตรวจสอบและแนะแนวทางเชิงเทคนิคของเว็บไซต์

อ่านบทความ ➝
Scroll to Top