หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Cloaking SEO กันมาบ้าง และรู้ว่าเป็นเทคนิคของการทำ SEO สายดำ เพราะเป็นการ Hack ให้เว็บไซต์ที่ไม่น่าจะติดอันดับบนหน้า Google กลับทำอันดับขึ้นมาได้ อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสนใจว่าทำได้ยังไง และอยากที่จะลองทำตามกันบ้าง…แต่ช้าก่อน Nerd อยากจะบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ทำ SEO ในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าเพราะอะไร ตามไปดูกันดีกว่าว่า Cloaking คืออะไร อันตรายแค่ไหน และถ้าเรากดเข้าเว็บไซต์ Cloaking จะเป็นยังไงบ้างบทความนี้มีคำตอบมาให้กับคุณ
Cloaking คืออะไร ?
Cloaking คือเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการทำ SEO สายดำ (Black Hat SEO) โดยเป็นการหลอกลวง Search Engine เช่น Google เพื่อดึงเว็บไซต์ที่ไม่น่าติดอันดับให้ขึ้นสู่อันดับที่สูงขึ้น โดยการแสดงเนื้อหาที่แตกต่างกันระหว่าง ผู้ใช้งานทั่วไป และ Search Engine bots
วิธีการทำ Cloaking มักใช้โค้ด JavaScript หรือการตั้งค่าบนเซิร์ฟเวอร์ (Server Configuration) เพื่อตรวจสอบว่าใครกำลังเข้าชมเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น:
- แสดงเนื้อหาที่แตกต่างกันตาม User-Agent ของผู้เข้าชม
- แสดงเนื้อหาที่แตกต่างกันตาม IP Address ของผู้เข้าชม
ทำไม Cloaking ถึงเป็นเทคนิคที่ควรระวังในการทำ SEO
เพราะ Cloaking ถือเป็นการใช้เทคนิค SEO สายดำที่ละเมิดนโยบายของ Search Engine เช่น Google เนื่องจากเข้าข่ายหลอกลวงในด้านการแสดงผลเนื้อหาที่ไม่ตรงกันระหว่างคนใช้งานเว็บไซต์และ Google Bot อย่างเช่น การใส่ Keyword เข้าไปในหน้าเว็บไซต์ให้ Google Bot เห็น แต่ไม่มีอยู่ในหน้าเว็บไซต์จริง, การใช้สคริปต์หรือโค้ด เช่น JavaScript เพื่อแสดงเนื้อหาที่แตกต่างกันระหว่าง Search Engine bots และผู้ใช้ ฯลฯ ซึ่งการทำแบบนี้อาจส่งผลให้เว็บไซต์ถูกลดอันดับ (De-ranking) หรือถูกลบออกจากดัชนี (De-indexing) แบบถาวร แน่นอนว่าส่งผลเสียต่อการใช้งานและภาพลักษณ์ของเว็บไซต์ในระยะยาว
ประโยชน์ของการทำ Cloaking มีอะไรบ้าง ?
ถึงแม้การทำ Cloaking จะเป็นเทคนิคที่ไม่แนะนำและเป็นวิธีทำ SEO ที่ละเมิดนโยบายของ Google แต่บางคนยังคงใช้วิธีนี้นั่นเป็นเพราะ…
- ช่วยเพิ่มอันดับได้เร็ว แต่นั่นก็เพราะ Google ถูกหลอกให้เข้าใจว่าหน้าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพ สุดท้ายอันดับที่เพิ่มขึ้นมาก็จะตกลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเหมือนกัน
- ทำให้เว็บไซต์มี Traffic เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกับการทำอันดับใน Keyword ที่มีปริมาณการค้นหาสูง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะสุดท้ายคนที่เข้ามาในเว็บไซต์แล้วแต่พบว่าหาสิ่งที่ต้องการไม่เจอ ก็จะออกจากเว็บไซต์ไปอยู่ดี
- หลีกเลี่ยงการถูกลงโทษจากการที่เป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น เป็นเว็บไซต์ผิดกฎหมายอย่างเว็บพนัน การทำ Cloaking ก็เพื่อซ่อนเนื้อหาดังกล่าวจากการตรวจสอบของ Search Engine โดยหวังว่าจะไม่ถูกแบนหรือถูกลดอันดับ
ประเภทของ Cloaking ที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง ?
ประเภทของ Cloaking ที่ SEO สายดำชอบทำนั้นมีอยู่หลายแบบ ยกตัวอย่างวิธีที่นิยมทำกันก็อย่างเช่น
- IP-based Cloaking
IP-based Cloaking จะเป็นการเปลี่ยนเนื้อหาตาม IP Address ของผู้เข้าชม ถ้าตรวจแล้วพบว่าเป็น IP Address เป็นของ Search Engine bots เช่น Googlebot ก็จะทำการส่งหน้าเว็บไซต์ที่ทำการปรับแต่งข้อมูลเอาไว้เพื่อทำอันดับไปให้ แต่ในหน้าเว็บไซต์ผู้ใช้งานทั่วไปจะเห็นเนื้อหาที่ต่างออกไป เช่น เห็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Keyword ที่ค้นหามา เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้ Google มีระบบตรวจจับ IP-based Cloaking และหากพบว่ามีการละเมิดนโยบายแล้วตรวจเจอ อาจส่งผลให้เว็บไซต์ถูกลดอันดับหรือลบออกจากดัชนีการค้นหา (Indexing) ไปเลย
- User-Agent Cloaking
User-Agent Cloaking จะเป็นการเปลี่ยนเนื้อหาตามตัวระบุ User-Agent เช่น Googlebot, Bingbot หรือเบราว์เซอร์ที่ผู้ใช้กำลังใช้งาน ถ้าระบุได้ว่าเป็น User-Agent ของ Search Engine bot ก็จะส่งเนื้อหาอีกแบบที่ต่างจากบนหน้าเว็บไซต์ไปเพื่อทำให้ติดอันดับใน Keyword ที่ต้องการไปให้ แต่บนหน้าเว็บไซต์ก็อาจจะเห็นคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาน้อย หรือมีลิงก์จำนวนมากที่พาไปยังเว็บไซต์อื่น ซึ่งการตรวจการทำ User-Agent Cloaking ในทุกวันนี้ทำได้ง่าย และถ้าถูกตรวจสอบด้วยทีมงานของ Search Engine ก็อาจนำไปสู่การถูกแบน
- JavaScript Cloaking
JavaScript Cloaking จะเป็นการใช้ JavaScript เพื่อแสดงเนื้อหาที่ต่างกันให้กับบอทและผู้ใช้ด้วยการแสดงหรือซ่อนเนื้อหาที่อยู่ในหน้าเว็บ เช่น เขียนโค้ดหลังบ้านไว้ให้ Google Bot เห็นโค้ดที่มี Keyword ที่ต้องการติดอันดับ แต่บนหน้าเว็บที่เห็นบน On-page กลับเป็นหน้าเนื้อหาโฆษณาเต็มไปหมด แต่ Search Engine bots ในปัจจุบันนี้สามารถประมวลผล JavaScript ได้ดีขึ้น ทำให้การทำ Cloaking รูปแบบนี้เสี่ยงที่จะถูกตรวจพบและโดนแบนได้ง่ายเช่นเดียวกัน
หากกดเข้าเว็บไซต์ Cloaking จะเกิดอะไรขึ้น ?
แล้วถ้าผู้ใช้งานเผลอกดเข้าไปในเว็บไซต์ที่ทำ Cloaking ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจจะเกิดอะไรขึ้น จะส่งผลเสียในเรื่องอะไรบ้าง Nerd ทำการสรุปสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ไว้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
เสียประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์ (Bad User Experience)
เพราะการที่เราทำการ Search คำค้นหาจาก Google นั่นเพราะเรามีความตั้งใจที่จะเข้ามาค้นหาอะไรบางอย่าง (Intention) แล้วถ้าคลิกเข้าเว็บไซต์ที่ทำ Cloaking แน่นอนว่า เราจะไม่เจอสิ่งที่กำลังค้นหาอยู่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด และมีประสบการณ์ใช้งานเว็บไซต์ที่ไม่ดีตามมา ซึ่ง Google ไม่ต้องการให้ผู้ใช้งานรู้สึกแบบนี้ จึงทำการแบนเว็บไซต์ที่ทำ Cloaking ออกไปให้ได้เร็วและมากที่สุด
เสี่ยงต่อการโดนโจมตีจากมัลแวร์ (Malware)
ในบางเว็บไซต์ที่ Cloaking อาจจะแสดงข้อมูลบนหน้าเว็บที่ดูปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมีการตั้งค่าเพื่อฝังมัลแวร์ (Malicious Software) ไว้ ทำให้เวลาเราเข้าใช้งานเว็บไซต์นั้นๆ อาจจะโดนนำมัลแวร์โหลดเข้ามาในเครื่องโดยอัตโนมัติจากการคลิกปุ่ม การโหลดสคริปต์ที่ฝังเอาไว้ในโค้ด ฯลฯ ซึ่งอันตรายเพราะอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลออกไปได้
ถูกพาออกไปยังหน้าเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ค้นหา
เว็บไซต์ที่ทำ Cloaking จะหลอก Google Bot ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างจากหน้าเว็บไซต์จริงทำให้ติดอันดับ เมื่อมีผู้ใช้งานคลิกเข้าเว็บไซต์มาก็อาจจะถูกพาไปยังหน้าเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น เว็บที่มีแต่โฆษณา เว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น จึงทำให้เกิดความสับสนในด้านการใช้งาน
โทษของการทำ Cloaking เทคนิค SEO สายดำที่ควรหลีกเลี่ยง
การทำ Cloaking ถือเป็นการทำ Technical SEO ที่ละเมิดนโยบายด้านคุณภาพ (Quality Guidelines) ของ Google ซึ่งถ้า Google ตรวจเจอว่าเว็บไซต์ไหนมีการใช้วิธี Cloaking ก็จะถูกลงโทษได้ ดังนี้
โดนลดอันดับบนหน้า Google
หากโดนตรวจเจอว่าทำ Cloaking ก็จะโดนปรับลดอันดับของเว็บไซต์ในหน้าผลการค้นหา หรือ SERPs ทำให้เว็บไซต์เสียตำแหน่งที่ดีที่เคยอยู่ในอันดับต้นๆ ทำให้ Traffic ที่เคยได้รับจาก Organic Search ลดลงไป เช่น หากเว็บไซต์ของคุณเคยเป็นอันดับ 1 และมีผู้เข้าชม 10,000 คนต่อวัน การหล่นไปอยู่หน้าที่ 3 อาจลดผู้เข้าชมเหลือเพียง 100 คนต่อวัน และการกู้คืนอันดับกลับมาก็อาจจะต้องใช้เวลาที่นาน เพราะเว็บไซต์โดนแบนจาก Google ไปแล้วนั่นเอง
โดนลบออกจากการจัดทำดัชนี (Indexing) ของ Google
การ Indexing คือกระบวนการที่ Google หรือ Search Engine อื่นๆ ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของหน้าเว็บไซต์เอาไว้ เพื่อนำมาจัดเรียงและนำมาแสดงผลบนหน้าค้นหาต่อ หากเว็บไซต์ไหนที่ทำ Cloaking ที่เป็นการแสดงเนื้อหาในเชิงหลอกให้ Search Engine Bot เข้าใจผิดไป แล้วถูกตรวจสอบเจอก็อาจจะทำให้โดนลบออกจากการจัดทำดัชนี หรือ Indexing เว็บไซต์จะไม่ปรากฏในผลการค้นหาใด ๆ ของ Google ไม่ว่าคำค้นหาจะเฉพาะเจาะจงแค่ไหน นั่นคือ ทำอันดับบน Search Engine ต่อไม่ได้ ส่งผลให้เว็บไซต์นั้นไม่มีคนเข้าชมจากช่องทาง Organic Search
ใช้เวลานานในการกลับมาทำอันดับอีกครั้ง
เว็บไซต์ที่โดนลงโทษจาก Google ไปแล้วจะถูกมองว่าเป็นเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ และจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดหากจะต้องทำการจัดอันดับใหม่ทั้งในด้านการทำ On-page SEO, Off-Page SEO หรือ Technical SEO และถ้าหากพบว่าเว็บไซต์ยังมีพฤติกรรมต้องสงสัย อาจใช้เวลานานกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่อีกรอบ
ทำโฆษณาผ่าน Google Ads แล้วผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร
เพราะทาง Google มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง Organic Search และ Google Ads หากพบว่าเว็บไซต์ของคุณมีการทำ Cloaking บัญชี Google Ads อาจถูกระงับ ซึ่งหมายความว่าคุณจะไม่สามารถใช้งานบัญชีในการสร้างแคมเปญใหม่ได้ หรือโฆษณาอาจถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่เป็นไปตาม Google Ads Policy แต่ถ้าทำโฆษณาผ่าน Google ก็อาจจะมองว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำและเคยละเมิดนโยบายจะได้รับคะแนน Quality Score ต่ำ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคลิก (CPC – Cost Per Click) แพงขึ้นด้วย
ชื่อเสียงของเว็บไซต์เสียหาย
สำหรับใครที่ทำเว็บไซต์เพื่อสร้างแบรนด์หรือทำการตลาด หากทำเว็บไซต์ด้วยวิธี Cloaking ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพราะเว็บไซต์ที่แต่เดิมลูกค้าสามารถค้นหาเจอได้ แต่กลับโดนลดอันดับหรือแสดงผลผิดไปจากปกติอย่างที่ควรเป็น ลูกค้าปัจจุบันและผู้ใช้ใหม่อาจมองว่าเว็บไซต์ไม่น่าเชื่อถือ หรือถ้าเกิดการเผยแพร่ว่าเว็บไซต์โดนแบนจาก Google ก็อาจทำให้ลูกค้าเลิกใช้บริการตามมาได้ด้วย
สรุปแล้ว Cloaking เป็นเทคนิคที่ควรทำหรือไม่
อ่านมาถึงตรงนี้ คงช่วยตอบคำถามแล้วว่า การทำ Cloaking อันตรายไหม และเป็นเทคนิคที่ควรทำหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าช่วงหนึ่งจะช่วยทำให้เว็บไซต์สามารถไต่อันดับขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายแล้วก็เสี่ยงต่อการโดนแบนจาก Search Engine นอกจากนี้ยังส่งผลต่อ User Expience ในการใช้งานอีกด้วย
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการทำ SEO คือ เน้นการทำ SEO อย่างถูกต้อง (White Hat SEO) ด้วยการสร้างเนื้อหาคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ มีการทำ SEO Keyword Planning ที่เหมาะสม ไปจนถึงทำการเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ (Page Speed, Mobile-Friendly) ให้ดี ก็จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณเติบโตได้ในระยะยาว โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการโดนลงโทษจาก Search Engine อีกด้วย