Home - Marketing - ขายของออนไลน์ E-commerce ต้องยื่นภาษีอย่างไร

ขายของออนไลน์ E-commerce ต้องยื่นภาษีอย่างไร

แม่ค้าออนไลน์ในยุคนี้ ขายของบน Shopee, Lazada ได้แบบปังๆ แล้วอาจจะยังไม่พอค่ะ สิ่งที่เราต้องรู้นอกเหนือจากนี้ก็คือ วิธีการจัดการบัญชีและภาษีให้รุ่งในแบบฉบับแม่ค้ามือโปร

การขายของในแพลตฟอร์ม Shopee, Lazada มีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง แล้วเราต้องจัดการอย่างไร FlowAccount จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ Step-by-Step ในบทความนี้กันค่ะ

1. ขายของ 1 รายการมีรายได้และค่าใช้จ่ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ก่อนที่เราจะไปเข้าใจวิธีการเสียภาษีของแม่ค้าออนไลน์ อยากชวนทุกคนมาย้อนคิดถึงรายการค้าที่เกี่ยวข้องกับการขายของ 1 ชิ้นว่ามีรายการอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ถ้าเราลองนั่งคิดดีๆ จะพบว่า การขายของได้ 1 ชิ้น มีรายได้และค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นหลายประเภท ตามนี้ค่ะ

ขายของ 1 รายการ มีรายได้และค่าใช้จ่ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ข้อดีของการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ก็คือ เราจะรู้กำไรขั้นต้นของการขายสินค้าแต่ละชิ้นได้ไม่ยากเลย

มีเจ้าของร้านออนไลน์หลายคนที่ขายของดีแทบตาย แต่สุดท้ายไม่มีกำไร เพียงเพราะว่าลืมคิดไปค่ะว่าทั้งแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada เองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บแม่ค้าด้วยเช่นกัน

เอาล่ะ ทีนี้ถ้าใครขี้เกียจจะมานั่งจดบันทึกว่าแต่ละรายการขายนั้นยอดรายได้-ค่าใช้จ่ายเป็นเท่าไร Flowaccount ช่วยคุณได้ด้วยการเชื่อมต่อกับระบบ Shopee, Lazada เพื่อบันทึกบัญชีเปิดบิลขาย และตัดสต็อกแบบอัตโนมัติเลยค่ะ

2. รายการขายของออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับ VAT

เข้าใจรายได้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายของออนไลน์กันไปแล้ว ถัดมาเป็นเรื่องที่ทุกคนกำลังกังวลอยู่ค่ะ ว่าการขายของออนไลน์นั้น เราต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อย่างไร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ภาษีที่เก็บจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ซึ่งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันเป็นอัตรา 7% โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แล้วนำส่งให้แก่กรมสรรพากรค่ะ

ตัวชี้วัดง่ายๆ ว่าแม่ค้าอย่างเรา เป็นผู้ประกอบการที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่นั่น ให้เช็คที่ยอดรายได้ค่ะ หากรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี แน่นอนว่าเราต้องรีบไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทันที

ภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่

  • ภาษีขาย = ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่เราเรียกเก็บจากลูกค้า ซึ่งต้องคิดรวมอยู่ในราคาขายและค่าขนส่งไว้เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่าง ภาษีขายเมื่อขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม
  • ภาษีซื้อ = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราถูก Supplier หรือว่า Shopee, Lazada เรียกเก็บไป ในอัตรา 7% เช่นเดียวกัน สังเกตง่ายๆ จากใบกำกับภาษีที่เราได้รับมาค่ะ
ตัวอย่าง ภาษีซื้อเมื่อซื้อที่เกิดจากแพลตฟอร์ม

วิธีนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้คำนวณจาก ภาษีขาย – ภาษีซื้อ ยอดหักกลบกันแล้วได้เท่าไร ให้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่สรรพากรภายใน 15 วันของเดือนถัดไปได้เลย (ถ้ายื่นแบบออนไลน์นำส่งภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป)

3. ขายของออนไลน์ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ (WHT)

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับ อย่างเช่น Shopee, Lazada ค่ะ จากนั้นก็ให้นำส่งให้กับกรมสรรพากรให้เรียบร้อย ภายใน 7 วันของเดือนถัดไป (ถ้ายื่นแบบออนไลน์นำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป)

แต่ใช่ว่าทุกรายจ่ายจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเสมอไปนะ เพราะกฎหมายกำหนดประเภทรายจ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ และอัตราการหัก ณ ที่จ่ายไว้เช่นกันค่ะ

ตัวอย่างประเภทค่าใช้จ่ายใน Shopee, Lazada และอัตราการหัก ณ ที่จ่ายมีดังนี้

ค่าใช้จ่ายและอัตราหัก ณ ที่จ่าย Shopee Lazada

เมื่อหัก ณ ที่จ่ายเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายไว้เป็นหลักฐานแก่ Shopee, Lazada ด้วยค่ะ

4. จุดที่ต้องระวังในการทำธุรกิจขายของออนไลน์

เข้าใจรายได้-ค่าใช้จ่าย ไปจนถึงวิธีการยื่นภาษีทั้ง 2 รูปแบบกันไปแล้ว ถัดมาอยากจะชวนทุกคนมีเช็คลิสจุดที่ต้องระวังในการทำธุรกิจขายของออนไลน์กันค่ะ เรียกได้ว่าเช็คลิสนี้เป็นข้อผิดพลาดที่เราพบได้บ่อยๆ ในธุรกิจเลย

จุดที่ต้องระวังในการทำธุรกิจขายของออนไลน์

ออกใบกำกับภาษี แต่ไม่รวมค่าขนส่งไปด้วย

กรณีที่ร้านค้าเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้า ในเอกสารใบกำกับภาษีอย่าลืมใส่จำนวนเงินค่าขนส่งไปด้วย และค่าขนส่งนี้ต้องคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ให้เรียบร้อยนะคะ

หลายคนเข้าใจผิดว่า เราได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าขนส่ง แต่จริงๆ แล้วประเภทธุรกิจที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มค่าขนส่งคือ ธุรกิจขนส่ง (อย่างเดียวเท่านั้น) ไม่ใช่ ธุรกิจขาย + ขนส่งจ้า

รับรู้ยอดขายผิดเดือน VAT ขายยื่นล่าช้า

อีกข้อควรระวังก็คือ การออกใบกำกับภาษีผิดเดือน เช่น ขายของได้แล้ววันที่ 31 มค. แต่ว่าไปออกใบกำกับภาษีในเดือน กพ. แปลว่า การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มก็ข้ามเดือนไป ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แบบนี้อาจมีปัญหาโดนค่าปรับได้เลยนะ

ลืมหักภาษี ณ ที่จ่าย

ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการขายผ่าน Shopee, Lazada ที่เราโดนเรียกเก็บนั้น เจ้าของธุรกิจบางท่านลืมหัก ณ ที่จ่ายแล้วส่งให้กับสรรพากร ถ้าเป็นกรณีนี้เราอาจถูกค่าปรับย้อนหลังได้เช่นกันค่ะ เพราะรายได้ทั้งหลายของ Shopee, Lazada ถูกส่งตรงให้กับสรรพากรแล้ว แปลว่า สรรพากรมีข้อมูลอยู่ในมือครบถ้วน เพียงแค่รอว่าเมื่อไรเราจะมายื่นภาษี หัก ณ ที่จ่ายตามกำหนดเท่านั้นเองนะ

สต็อกไม่ตรง

ปัญหาโลกแตกของแม่ค้าออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ขายดี ถ้าบริหารจัดการระบบสินค้าคงคลังได้ไม่ดี แบบนี้มีโอกาสสูงมากๆ ที่สต็อกจริง ไม่ตรงกับ สต็อกในรายงานสินค้าค่ะ และสุดท้ายอาจมีปัญหาจากสรรพากรตามมาด้วยเช่นกัน

วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหานี้ก็คือ การเช็คสต็อกเข้าออกอยู่เป็นประจำ หรือใช้ระบบโปรแกรมบัญชีที่ตัดสต็อกให้อย่างอัตโนมัติเพื่อประหยัดเวลาการบริหารจัดการสต็อก

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องต้องรู้สำหรับแม่ค้าออนไลน์ที่ขายของใน Shopee, Lazada การทำบัญชีให้ครบถ้วน และยื่นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะทำให้ร้านค้าเห็นกำไรตามความเป็นจริงแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการโดนค่าปรับภาษีย้อนหลังแบบไม่รู้ตัวด้วยค่ะ

ผู้เขียน

Picture of tan
tan
Tag:

แชร์บทความนี้:

บทความที่คุณ อาจสนใจ

เทคนิคทำโฆษณาสินค้ากระตุ้นการซื้อ ดูตัวอย่างโฆษณาสินค้าน่าสนใจ

เทคนิคทำโฆษณาสินค้ากระตุ้นการซื้อ ดูตัวอย่างโฆษณาสินค้าน่าสนใจ

อยากทำโฆษณาสินค้าให้คนหยุดดูและเกิดการตัดสินใจซื้อมาดูเทคนิคการทำโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ พร้อมยกตัวอย่างการทำโฆษณาที่น่าสนใจในบทความเดียว

อ่านบทความ ➝
Scroll to Top