Home - SEO - เทคนิคทำโฆษณาสินค้ากระตุ้นการซื้อ ดูตัวอย่างโฆษณาสินค้าน่าสนใจ

เทคนิคทำโฆษณาสินค้ากระตุ้นการซื้อ ดูตัวอย่างโฆษณาสินค้าน่าสนใจ

เทคนิคทำโฆษณาสินค้ากระตุ้นการซื้อ ดูตัวอย่างโฆษณาสินค้าน่าสนใจ

ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงการโปรโมตสินค้าและบริการแบบที่รวดเร็วแถมยังเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘การทำโฆษณาสินค้า’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหมู่มากได้ แถมยังนำไปสู่การสร้าง Conversion ที่วัดผลได้ด้วย แต่การทำโฆษณาสินค้าในปัจจุบันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะทำให้ Performance ของการทำโฆษณาดีได้ แต่ธุรกิจยังต้องเข้าใจการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย ถึงจะทำโฆษณาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น บทความนี้เรามาทำความรู้จักกับการทำโฆษณาสินค้าให้มากขึ้น พร้อมดูตัวอย่างการทำโฆษณาสินค้าไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ

วิธีการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ

วิธีการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ

ที่มาภาพ: unbounce.com

สำหรับวิธีการโฆษณาสินค้าที่มีประสิทธิภาพก็ต้องเป็นโฆษณาที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคให้กระทำการบางอย่าง (Action) ตามที่ธุรกิจต้องการได้ เช่น ทำให้ผู้บริโภคคลิกเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมหรือเข้าสู่ร้านค้า, ทำให้กลุ่มเป้าหมายใช้โค้ดส่วนลดเพื่อซื้อสินค้า เป็นต้น ซึ่งวิธีการทำโฆษณาที่ดีจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ

  • โฆษณาต้องสร้างสรรค์

โฆษณาที่มีประสิทธิภาพจะต้องสื่อสารความเป็นแบรนด์ต่อกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดโดยใช้หลัก AIDA MODEL ดังนี้

    • ต้องทำให้คนรู้จักแบรนด์ (Attention) เช่น บอกว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้น่าสนใจยังไง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาทำความรู้จักแบรนด์มากขึ้น
    • ต้องทำให้คนสนใจ (Interest) เช่น ทำให้กลุ่มเป้าหมายพิจารณาสินค้าหรือบริการว่าสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้กับพวกเขาได้บ้างด้วยการบอกว่า สินค้าหรือบริการแก้ไขปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายเจอได้ยังไง
    • ต้องทำให้เกิดความต้องการ (Desire) เช่น ทำโฆษณาให้คนอยากตัดสินใจ ลงมือทำ ซื้อ ลงทะเบียน จอง ฯลฯ
    • ต้องทำให้เกิดการตัดสินใจ (Action) เช่น การใช้ Call-to-Action, การบอกคุณค่าหรือสิ่งที่เขาจะได้รับให้ชัดเจน ฯลฯ
  • ข้อความในโฆษณาต้องโน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมาย

ข้อความในโฆษณา (Copywriting) เป็นส่วนสำคัญของการทำ Content Marketing เพราะเป็นสิ่งที่แบรนด์ใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งรูปแบบการเขียนคำโฆษณามีได้หลายแบบ เช่น เขียนโดยใช้ปัญหาของลูกค้าเพื่อ Lead เข้าสู่สินค้าหรือบริการที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้, เขียนถึง Offer ที่ตรงกับความสนใจของลูกค้า โดยดูจาก Customer Insight ที่เก็บได้ เป็นต้น 

  • ต้องทำข้อเสนอที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

ข้อเสนอ (Offer) คือ เทคนิคหนึ่งในการส่งเสริมการขายด้วยการใช้ข้อเสนอพิเศษ เพื่อโน้มน้าวใจลูกค้า และกระตุ้นให้เกิดการซื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องทำร่วมกับการวางแผน Marketing Strategy Campaign เพื่อส่งต่อข้อเสนอให้ถึงเป้าหมายได้อย่างน่าสนใจ 

ยกตัวอย่างเช่น คุณทำธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง คุณอาจจะทำแคมเปญกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการขนส่งของคุณมากยิ่งขึ้นด้วยการส่งมอบข้อเสนอที่น่าสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่าง ส่วนลดในการใช้บริการ, คูปองทดลองใช้ฟรี ฯลฯ หากข้อเสนอของคุณน่าสนใจและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก็มีโอกาสทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อหรือทำอะไรบางอย่างที่คุณอยากให้ทำมากขึ้น

ต้องทำข้อเสนอที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

ที่มาภาพ: www.getmoda.io

เหตุผลที่การโฆษณาสำคัญสำหรับธุรกิจ

สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brands Awareness)

สำหรับแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจการใช้โฆษณาในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brands Awareness) คือสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นวิธีที่ทำให้ลูกค้ารู้ได้ว่าคุณกำลังธุรกิจอะไรอยู่ คุณเชี่ยวชาญด้านไหน ไปจนถึงช่วยบอกด้วยว่าธุรกิจของคุณช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร เช่น การยิง Google Ads ใน Keyword ที่กลุ่มเป้าหมายมักค้นหา หากเขาเห็น Ads ของคุณก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนรู้จักแบรนด์ได้มากขึ้น

ช่วยในการพิจารณาและเปรียบเทียบ (Consideration)

คุณสามารถทำโฆษณาเพื่อทำให้คนพิจารณาและเปรียบเทียบสินค้าของคุณกับคู่แข่งเพิ่มเติมได้ เช่น คุณอาจจะทำโฆษณาผ่านการทำ Influencer Marketing ที่มักจะรีวิวสินค้าและบริการให้กับแบรนด์ต่างๆ ทำให้คนพิจารณาว่า สินค้าหรือบริการของธุรกิจไหนที่ตนเองต้องการ และการใช้อิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์ในการโฆษณายังอาจทำให้เกิดการ Convert มาเป็นลูกค้าจากการที่ซื้อสินค้าหรือบริการตามๆ กันได้ด้วย

ช่วยในการตัดสินใจซื้อ (Decision)

โฆษณามีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทำ Retargeting ที่จะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า ที่เคยเข้ามาในเว็บไซต์ของเราแต่ยังไม่ได้ซื้อสินค้าได้มีโอกาสเห็นโฆษณาที่ช่วยทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้มากขึ้น เช่น การยิงโฆษณาผ่าน Social Media เพื่อให้คนเห็นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติม เป็นต้น

กลยุทธ์โฆษณาที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ

ทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายของคุณ

ก่อนอื่นคุณควรรู้ก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีพื้นฐานข้อมูลด้านประชากรอย่างไร ไปจนถึงมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอย่างไร ด้วยการทำ Buyer Persona ที่ช่วยทำให้คุณเข้าใจและมองเห็นกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น

กลยุทธ์โฆษณาที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ

ที่มาภาพ: www.brainkraft.com
ตัวอย่าง Buyer Persona 

ตั้ง Goal ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

หลังจากที่ทำความรู้จักกับกลุ่มเป้าหมายของคุณดีพอแล้ว ก็ให้ทำการวางแผนแคมเปญการตลาดที่เหมาะสม ซึ่งคุณควรจะตั้ง Goal เอาไว้ด้วยว่า การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการทำโฆษณานี้ คุณต้องการผลลัพธ์อะไร เช่น ต้องการให้คนคลิกเข้าเว็บไซต์, ต้องการให้คนทักข้อความ ฯลฯ โดยคิดจากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายด้วยว่าเขามีพฤติกรรมหรือความสนใจ จนสามารถ Lead สู่เป้าหมายที่ต้องการได้หรือไม่ 

ยกตัวอย่างการตั้ง Goal เช่น การใช้ SMART GOAL ในการตั้งเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น หรือระยะยาวให้มีประสิทธิภาพ และเอื้ออำนวยต่อการวัดผล

ตั้ง Goal ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

ที่มาภาพ: www.wnccumc.org

S – Specific หมายถึง เป็นเป้าที่มีขอบเขตที่แน่ชัด 

M – Measurable หมายถึง เป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ 

A – Achievable หมายถึง เป้าที่เป็นไปได้ ภายใต้ระยะเวลาและทรัพยากรที่มี 

R – Relevant  หมายถึง เป็นเป้าที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ต้องการในระยะยาว 

T – Time-based หมายถึง เป็นเป้าที่มีระยะเวลาที่จำกัด

วางแผนแคมเปญการตลาด

หลังจากได้เป้าหมายที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงแล้ว ก็นำมาวางแผนแคมเปญการตลาดต่อด้วยการวางรูปแบบคอนเทนต์ที่จะนำมาใช้ในการทำโฆษณาให้เหมาะสม โดยการใช้หลัก Sales Funnel เข้าช่วย นั่นคือหลัก TOFU (Top of the funnel), MOFU (Middle of the funnel) และ BOFU (Bottom of the funnel)

วางแผนแคมเปญการตลาด

ที่มาภาพ: www.lucidchart.com

  • TOFU (Top of the funnel) คอนเทนต์ที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์ เช่น  Content, Videos, Infographics เป็นต้น
  • MOFU (Middle of the funnel) คอนเทนต์ที่ช่วยมอบข้อมูลในการเปรียบเทียบ เช่น White papers, Webinars, Educate Content เป็นต้น
  • BOFU (Bottom of the funnel) คอนเทนต์ที่ทำให้เกิดการตัดสินใจที่สามารถชักจูงให้เกิดการตัดสินใจในการซื้อ เช่น Case study, Demo Video เป็นต้น

เลือกช่องทางโฆษณาที่เหมาะสม

ต่อมาคือการเลือกช่องทางการโฆษณาที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยในปัจจุบันนี้นอกจากการโฆษณาแบบ Offline อย่างพวกการขึ้นโฆษณาบนป้ายบิลบอร์ด การแจกใบปลิว การออกอีเวนต์แล้ว ยังนิยมทำโฆษณาบนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Search Engine และโซเชียลมีเดียอีกด้วย ส่วนวิธีการเลือกช่องทางโฆษณาให้เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางธุรกิจ และรูปแบบธุรกิจ เช่น คุณทำธุรกิจ E-Commearce มีเว็บไซต์และ Facebook แน่นอนว่าการทำการตลาดบน Google ด้วยการยิง Google Ads และ Facebook Ads คือช่องทางที่เหมาะสมสำหรับคุณ ฯลฯ

เทคนิคการเขียนโฆษณา

  • ให้ความสำคัญกับการทำหัวข้อที่น่าสนใจ

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการเขียนคำโฆษณา (Copywriting) ทุกประเภทคือส่วนนำหรือพาดหัว เพราะคุณมีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน โดยอาจจะเขียนออกมาในรูปแบบสโลแกนที่จดจำง่าย เขียนโดยใช้ Pain Point ของลูกค้าในการทำให้ลูกค้าสนใจและรับรู้ว่าคุณมีเซอร์วิสที่ช่วยแก้ปัญหา แต่ทั้งนี้ ควรระวังในการใช้คำโฆษณาที่เกินจริงเอาไว้ด้วย

  • รู้จักใช้จุดแข็งของธุรกิจให้เป็นประโยชน์

ด้วยการเขียนว่าสินค้าหรือบริการของคุณดีอย่างไร ช่วยแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร หรือการซื้อสินค้าหรือบริการนี้จะได้อะไรเพิ่มเติมบ้าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากได้มากกว่าการเขียนบรรยายถึงคุณสมบัติของสินค้าแบบทั่วๆ ไป

  • เลือกใช้สื่อที่หลากหลายและตรงกับสิ่งที่เป้าหมายเสพ

การเขียนโฆษณาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเขียนแบบข้อความ แต่ยังรวมถึงการใช้ภาพ หรือวิดีโอเข้ามามีส่วนช่วยให้การกระตุ้นความสนใจได้ โดยรูปแบบของการใช้สื่อเหล่านี้ควรเลือกให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มและกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น หากคุณต้องการทำโฆษณาบน Instagram ก็ต้องให้ความสำคัญกับรูปภาพ เพราะกลุ่มคนที่เล่นแพลตฟอร์มนี้เน้นเสพภาพเป็นหลัก เป็นต้น

  • เร้าอารมณ์ด้วยการทำ Scarcity Marketing

Scarcity Marketing คือ กลยุทธ์การทำการตลาดแบบขาดแคลน หมายถึง เร่งเร้าให้กลุ่มเป้าหมายต้องรีบทำอะไรบางอย่างไม่อย่างนั้นจะเกิดความเสียดายขึ้น โดยการทำโฆษณาในกลยุทธ์นี้มักใช้วิธีการเขียนที่ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากพลาดที่จะซื้อหรือทำตามสิ่งที่ธุรกิจบอก เช่น ห้ามพลาด ช้าหมดอดแน่ โปรวันสุดท้าย ฯลฯ

  • ปิดท้ายด้วยการทำ Call-to-Action

Call-to-Action หรือ CTA คือ สิ่งที่กระตุ้นให้คนทำการคลิก เช่น คลิกอ่านเพิ่มเติม คลิกลงทะเบียน ฯลฯ หากคุณทำโฆษณาบนเว็บไซต์ก็จะต้องทำปุ่มคลิกที่กระตุ้นให้คนอยากกด หากเป็นการยิงแอดในแพลตฟอร์มต่างๆ ก็จะมีให้กดเลือกรูปแบบ CTA ที่เหมาะสมกับเนื้อหาเพิ่มเติมด้วย 

เทคนิคการเขียนโฆษณา

ที่มาภาพ: thedigiterati.com
ตัวอย่าง CTA บน Facebook Ads

สามารถโฆษณาในช่องทางไหนบ้าง

โฆษณาผ่านช่องทาง Online

โฆษณาผ่านช่องทาง Online สามารถทำได้หลายแพลตฟอร์ม เช่น

  • Facebook 
    • ข้อดี: ยิงแอด Facebook สามารถควบคุมโฆษณาให้แสดงผ่านหลายแพลตฟอร์มได้ เช่น Facebook, Instagram, Messenger ฯลฯ มีระบบ Automation ช่วยสำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นยิงแอดโฆษณาใหม่ๆ ไปจนถึงช่วยเจาะกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงโดยการลงรายละเอียดได้ยิบย่อยเพื่อยิงให้ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น
    • ข้อจำกัด: มีนโยบายในการลงโฆษณาที่เข้มงวด หากทำผิดกฎเสี่ยงถูกแบนได้ และยังมีการอัปเดตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดจึงต้องตามระบบการทำงานให้ทัน จึงจะใช้ทำโฆษณาสินค้าแล้วมีประสิทธิภาพ
  • Instagram
    • ข้อดี: ใช้สร้างแคมเปญผ่าน Facebook manager ได้, สามารถนำเสนอสินค้าและบริการผ่านรูปภาพและวิดีโอได้หลายแบบ, มีลูกเล่นเยอะ เช่น เปิดโอกาสให้แบรนด์ร่วมเป็น Partner กับเหล่าคนดัง เป็นต้น
    • ข้อจำกัด: ไม่เหมาะกับการโฆษณาที่เน้นใช้ข้อความหรือตัวอักษรที่เยอะ และอาจจะเหมาะกับอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม
  • Google
    • ข้อดี: เจาะกลุ่มลูกค้าได้อย่างชัดเจน แสดงผลได้ในหลายแพลตฟอร์ม และแสดงผลได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงรูปแบบการจ่ายเงินยังแฟร์กับผู้ใช้งาน เพราะแบรนด์จะจ่ายเงินต่อเมื่อมีคนคลิกเข้าเว็บไซต์
    • ข้อจำกัด: มีการใช้งานที่ค่อนข้างซับซ้อนต้องเรียนรู้มาก
  • LINE
    • ข้อดี: มีผู้พบเห็นหรือเข้าชมโฆษณาสูง เพราะมีผู้ใช้งานจำนวนมาก และมีทีมซัพพอร์ตเป็นคนไทย สื่อสารภาษาไทยได้
    • ข้อจำกัด: หากทำการโฆษณาเองอาจไม่สามารถเลือกวัตถุประสงค์บางข้อได้จำเป็นต้องพึ่งพาเอเจนซี่
  • Tiktok
    • ข้อดี: TikTok Ads มีโอกาสสูงที่จะมีคนมารู้จักหรือเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางนี้สูง เพราะเป็น Short Video ที่คนชอบเสพและกำลังมาแรง คนทำคอนเทนต์วิดีโอสามารถใช้พื้นที่นี้ในการสร้างตัวตนหรือแบรนด์ได้ง่าย
    • ข้อจำกัด: ไม่เหมาะกับโฆษณาที่ต้องใช้ Text หรือรูปภาพที่เยอะเกินไป และมีราคาค่อนข้างแพง (โดยเฉพาะโฆษณารูปแบบ Takeover)

โฆษณาผ่านช่องทาง Offline

การทำโฆษณาผ่านช่องทาง Offline จะมีหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การโฆษณาบนวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ป้ายประกาศ ใบปลิว โบรชัวร์ บิลบอร์ด การออกอีเวนต์ ฯลฯ จะเหมาะกับธุรกิจที่มีสถานที่ตั้งแน่นอน มีเงินทุนหนา เป็นที่รู้จักในพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว หรือเป็นธุรกิจระดับ Mass Market หรือตลาดมวลชน

ตัวอย่างการเขียนโฆษณา

ยกตัวอย่างการเขียนโฆษณาที่น่าสนใจของแบรนด์ต่างๆ เช่น

  • APPLE

APPLE เป็นแบรนด์ที่ทำการเขียนโฆษณาได้ดี และโดนใจในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น…

ตัวอย่างการเขียนโฆษณา

ใช้ความขัดแย้งและความแตกต่างมาเป็นจุดเด่น อย่างตัวอย่างในภาพที่ใช้เรื่องขนาดและความบางเข้ามาอธิบายตัว Product ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของสินค้าไปจนถึงรู้สึกสนใจสินค้ามากขึ้นด้วย

ตัวอย่างการเขียนโฆษณา ใช้ทริคตัวเลขในการเล่าเรื่อง

ใช้ทริคตัวเลขในการเล่าเรื่อง แถมยังใช้เทคนิคการเล่าด้วยตัวเลขที่เข้าใจง่ายและทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน อย่างการบอกว่าแบตเตอรี่อึด โดยปกติอาจจะเขียนว่าจุแบตเตอรี่ได้ทั้งหมดเท่าไหร่ แต่ APPLE จะใช้วิธีเขียนในด้านการใช้งาน เช่น ใช้งานได้นานสูงสุด 30 ชั่วโมง เป็นต้น

  • WorkVenture
WorkVenture

หลายปีก่อนมีการใช้วิธีการเขียนโฆษณาที่เรียกเสียงฮือฮาและสร้างภาพจำให้กับบริษัทหางานอย่าง WorkVenture ได้ค่อนข้างมาก กับการจับอินไซต์ของมนุษย์เงินเดือนมาเล่น ด้วยการเอาชื่อคนที่คิดว่าซ้ำกันมากที่สุดขึ้นบิลบอร์ด บนจอดิจิตอลที่ติดตามอาคารสำนักงานชั้นนำต่างๆ ไปจนถึงบนรถสาธารณะ แล้วถามคำถามที่ชวนเจ็บจี๊ด เช่น ต้นเบื่อหัวหน้าใช่มั้ย? หางานใหม่ที่ WorkVenture.com ฯลฯ ซึ่งช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ได้เป็นจำนวนมากทั้งบนออฟไลน์และออนไลน์ 

  • GQ
GQ

แคมเปญโฆษณาของ GQ เรียกได้ว่าเด็ดโดนใจหลายตัวด้วยกัน โดยเฉพาะแคมเปญที่โฆษณากางเกงชั้นในชายที่มีการเขียนคำโฆษณาในรูปแบบที่หลายแบรนด์อาจจะไม่ได้กล้านำเสนอในรูปแบบนี้ เพราะมีการเขียนถึงปัญหาเรื่องไข่ที่ผู้ชายต้องเคยเจอแบบตรงไปตรงมา และนำเสนอผลิตภัณฑ์ในออกมาน่าสนใจและทำให้จดจำได้ง่าย เช่น ไข่ร้อนอับชื้น เปลี่ยนกางเกงในมั้ย?, พอดีทุกไข่ไซส์ไหนก็ใส่ได้ เป็นต้น ด้วยความแปลกและแหวกแนวของการนำเสนอโฆษณาจึงทำให้คนจดจำแคมเปญนี้ของ GQ ได้เป็นอย่างดี

  • DOVE
DOVE

แคมเปญของ DOVE อย่าง #LetHerGrow เป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ใช้การเขียนโฆษณาที่ทรงพลังโดยการหยิบประเด็นของการที่เด็กผู้หญิงไทยต้องโดนบังคับตัดผมในรั้วโรงเรียนด้วยการบอกเล่าที่ว่า ผู้หญิง 7 ใน 10 คนเคยสูญเสียความมั่นใจจากการถูกบังคับตัดผม ซึ่งช่วยสะท้อนประเด็นคำถามที่คนรุ่นใหม่มักจะสงสัยว่า ‘ทำไมโรงเรียนต้องบังคับให้ตัดผมสั้น’ แน่นอนว่า การเขียนคำโฆษณาแบบนี้ไม่ได้ทำเพื่อขายสินค้า แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมจุดยืนของแบรนด์ และ Vision ของแบรนด์ที่แบรนด์เชื่อว่า ‘ความสวยงามควรเป็นที่มาของความมั่นใจ ไม่ใช่ความวิตกกังวล’ ให้เด่นชัดมากขึ้น

  • Netflix
Netflix

ใครที่ขึ้นทางด่วนบ่อยๆ ช่วงหนึ่งก่อนหน้าเทศกาลและในช่วงเทศกาลคงจะได้เห็นคำโฆษณาเด็ดๆ ไอเดียปังๆ ของ Netflix กับแคมเปญ #ไม่ไปไหนไป NETFLIX ที่ทำการขึ้นป้ายบิลบอร์ดที่ช่วยบอกระยะทางของสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังบอกจุดกลับรถ พร้อมประโยคสั้นๆ ว่า “ปีใหม่ เปลี่ยนใจยังทัน” #ไม่ไปไหนไปNETFLIX ที่เข้ากับทั้งสถานที่และสถานการณ์ของคนเดินทางในช่วงหน้าเทศกาลได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สรุปโฆษณาหรือโฆษณาสินค้าคืออะไร

โฆษณาสินค้า คือ กลยุทธ์การทำการตลาดโดยการใช้สื่อต่างๆ ทั้งในรูปแบบ Offline และ Online ในการประชาสัมพันธ์สารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายกระทำการบางอย่างตาม Goal ที่ตั้งไว้ ซึ่งการทำโฆษณาไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียเงินเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่ยังมีวิธีการทำโฆษณาอีกหลายรูปแบบ เช่น การทำ PR, การทำ Guest posting, การจ้างรีวิวด้วยการให้สินค้าหรือบริการตอบแทน เป็นต้น 

แต่ไม่ว่าจะทำโฆษณาสินค้าออกมาในรูปแบบใดก็แล้วแต่ควรทำให้ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ พร้อมวางกลยุทธ์ให้ผู้คนที่พบเห็นเกิดภาพจำ ช่วยให้เขาพิจารณา ไปจนถึงตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของธุรกิจได้ และควรที่จะวัดผลแคมเปญเหล่านั้นออกมาเป็นตัวเลขตามที่ต้องการให้ได้ด้วยจึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ

ผู้เขียน

Picture of NerdOptimize Team
NerdOptimize Team
Tag:

แชร์บทความนี้:

บทความที่คุณ อาจสนใจ

SEO Checker

SEO Checker | สุดยอดเครื่องมือ SEO ที่จะช่วยให้การทำ SEO ของคุณง่ายยิ่งขึ้น!

SEO Checker คือซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับวิเคราะห์และวัดผล SEO Performance มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่จะเปลี่ยนให้การทำ SEO ของคุณง่ายยิ่งขึ้นกว่าที่เคย!

อ่านบทความ ➝
Scroll to Top