Google Analytics คือ เครื่องมือวิเคราะห์และเก็บข้อมูลเชิงสถิติของผู้เข้าเว็บไซต์ หลายคนเข้าใจผิดว่าเครื่องมือนี้จะถูกใช้โดยโปรแกรมเมอร์เท่านั้น หลายคนกลัวความยากในการใช้ หลายคนยังไม่ทราบถึงศักยภาพของมัน ดังนั้น เราจึงขอนำเสนอ ความสำคัญ วิธีใช้ และ การดูข้อมูลในเบื้องต้น Google Analytics ยังเหมาะสำหรับนักการตลาดออนไลน์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะมันสามารถวัดผลได้ว่า User เข้าเว็บไซต์เราจากช่องทางไหนเยอะที่สุด และช่องทางไหนที่เข้ามาซื้อของในเว็บไซต์ของเราหรือลงทะเบียนเยอะที่สุด พฤติกรรมของ User ที่เข้ามาเป็นยังไงอยู่ในเว็บไซต์กี่นาที เมื่อเรารู้ข้อมูลเหล่านี้แล้วก็จะทำให้เราไปต่อยอดกับการลงเงินในโฆษณาออนไลน์ได้ว่าควรทุ่มเทให้กับช่องทางไหน. สุดท้ายที่สำคัญเลยข้อมูลที่ Google Analytics ให้คุณนั้น ฟรี !!
ความสำคัญของ Google Analytics
คุณมีบล็อกหรือไม่? คุณมีเว็บไซต์หรือไม่? หากคำตอบคือใช่ไม่ว่าจะเพื่อการใช้งานส่วนตัวหรือธุรกิจแล้วคุณต้องใช้ Google Analytics ต่อไปนี้คือคำถาม (เพียงส่วนหนึ่ง) ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของคุณซึ่ง Google Analytics สามารถตอบได้ :
- จำนวนคนเข้าเว็บไซต์เท่าไร? (เลือกช่วงเวลาที่ต้องการได้)
- ใครเข้ามาเว็บไซต์ของเรา?
- เว็บไซต์เราคนเข้าผ่านทางไหนมากที่สุด? (mobile, desktop หรือ tablet)
- คนเข้ามาจากช่องทางไหนมากที่สุด? (Google, Facebook หรือเว็บไซต์อื่น)
- เมื่อคนเข้ามาเกิด Action ที่เราตั้งไว้ (goals) หรือไม่?
- คอนเท้นท์ไหนบนเว็บไซต์เราคนชอบมากที่สุด?
Google Analytics ถูกมองว่าคือ เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์เก็บข้อมูลเชิงสถิติของคนที่เข้าเว็บไซต์ หากเปรียบเทียบโดยใช้ตัวอย่าง ร้านกาแฟ เราอาจจะเรียก Google Analytics ว่า ผู้สังเกตการณ์ และ จดข้อมูล เพื่อหารายละเอียดดังนี้ :
- ใคร เข้าร้านของเรา ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย อายุเท่าไหร่ ?
- รู้จักร้านเราผ่าน ช่องทางไหน จาก Facebook , Pantip หรือว่า IG
- ลูกค้ากลุ่มไหน สร้างยอดขายได้สูงสุด (วัยรุ่นผู้ชาย, วัยรุ่นผู้หญิง หรือ กลุ่มวัยรุ่นทั้งชายหญิง)
- เมนูอะไร ที่ผู้หญิงชอบสั่ง
- เมนูอะไรที่ผู้ชายชอบสั่ง
- ลูกค้า ใช้เวลาเท่าไร อยู่ในร้าน
- โปรโมชั่นไหน ที่สร้างยอดขายได้มากที่สุด
- กลุ่มไหน สร้างยอดขายจากโปรโมชั่นนี้ได้มากที่สุด
ข้อมูลในด้านบน จะถูกบันทึกโดย Google Analytics โดยที่เราไม่จำเป็นต้องนั่งจด หรือ ทำ excel เอง !!
ข้อมูลที่ได้มา หากนำไปใช้วิเคราะห์ต่อ จะทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่การพัฒนาโปรดักส์ เพื่อตอบโจทย์ต่อ กลุ่มลูกค้าหลัก ของเราจริงๆ และ แน่นอนช่วยเพิ่ม ROI (Return on Investment) หรือกำไรที่ได้จากการลงทุน ย้ำอีกทีครับว่า คุณไม่ต้องเสียเงิน ! ในการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้
วิธีการนำ Google Analytic ไปใช้เบื้องต้น (จากตัวอย่างร้านกาแฟ)
ข้อมูลจาก Google Analytics แสดงข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ :
- กลุ่มลูกค้าที่รู้จักร้านของเราผ่านการโฆษณากับ Google (อาจจะเป็นโฆษณาบนหน้าผลการค้นหาของ Google หรือ Google Display Network (โฆษณาแบนเนอร์ที่จะขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ต่างๆ มีคำว่า โฆษณาโดย Google ติดอยู่มุมบน) สร้างยอดขายให้เราได้ สูงที่สุด แต่กลุ่มลูกค้าที่รู้จักร้านของเราผ่านการลงโฆษณาของเราบน Facebook สร้างยอดขายได้ น้อยที่สุด (เมื่อเทียบกับ online channel อื่นเช่น IG, Twitter) จากข้อมูลนี้เราสามารถ :
- จัดสรรงบประมาณในการโฆษณาไปที่ Google เพิ่มมากขึ้น
- ปรับลดเงินโฆษณาบน Facebook ลง หรือ ลองเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่เรายิงโฆษณา เพราะอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่ม audience บน Facebook ที่เราเลือกยิงไป อาจจะไม่ใช่กลุ่มที่สนใจสินค้าของเรา
ยอดขายส่วนใหญ่ใหญ่เกิดขึ้นจากการโฆษณาผ่าน Google ยอดขายที่มาจากการโฆษณาผ่าน Facebook น้อยกว่า Google กว่า 50% (ข้อมูลจาก Google Analytics บนเว็บไซต์ E-commerce) และ channel ที่ก่อให้เกิดรายได้น้อยที่สุดคือ direct หรือการที่คนเข้ามาถึงเว็บไซต์เราผ่านการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์เราโดยตรง
- ผู้ใช้งานเว็บไซต์ผ่าน mobile เมื่อเทียบกับ desktop และ tablet มีสัดส่วนถึง 70% ! และสร้างยอดขายได้มากที่สุดอีกด้วย เรายังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มนี้นิยมสั่ง ลาเต้เย็น ผ่านมือถือ และคนกลุ่มนี้นิยมเข้ามานั่งทานที่ร้าน ทุกวันพุธ จากข้อมูลนี้เราสามารถ :
- จัดโปรโมชั่นเพื่อสร้างยอดขายและเรียกให้คนกลุ่มนี้ (เข้าเว็บไซต์ผ่าน mobile + ชอบสั่งลาเต้เย็น + เข้ามาทานที่ร้านทุกวันพุธ) เช่น รับฟรี ลาเต้เย็น 1 แก้ว เมื่อซื้อสั่งครบ 100 บาทขึ้นไป โดยทำการโฆษณาโปรโมชั่นผ่าน Facebook หรือ Google Display Network โดยเลือก device ที่เลือกยิงโฆษณาเป็น mobile รูปหรือ content ของโฆษณาคือ ลาเต้เย็น (พร้อมระบุรายละเอียดโปรโมชั่น)
จากข้อมูลจะพบว่า mobile คือ ประเภท device ที่นำคนเข้ามายังเว็บไซต์เรามากที่สุด
วิธีการดูข้อมูลใน Google Analytics เบื้องต้น
หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องข้อมูลเป็นเรื่องน่าปวดหัว แต่สำหรับข้อมูลที่ทาง Google Analytics มอบมาให้คุณ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด รายงานต่างๆ (reports) ถูกแบ่งออกเป็น 4 sections ใหญ่ คือ Audience, Acquisition, Behavior และ Conversions หรือเรียกสั้นๆ ว่า ABC Report
Audience Reports
รีพอร์ตนี้จะบอกข้อมูลด้านประชากรหรือ demographics ของผู้ที่เข้าเว็บไซต์เรา เช่น เพศอะไร อายุเท่าไร มาจากจังหวัดอะไร และข้อมูลทางด้าน technology คือ เข้าผ่านอุปกรณ์อะไร, เป็นระบบ iOS หรือ Android ลึกไปกว่านั้นมันยังบอก ชื่อรุ่นโทรศัพท์ ได้ด้วย !
จากภาพ จะเห็นได้ว่าจังหวัดกรุงเทพฯ คือจังหวัดที่มี traffic (คนเข้าเว็บไซต์) เราเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น คนที่เข้าเว็บไซต์ส่วนใหญ่ใช้ Desktop โดยมี Operating System เป็น Windows ช่วงอายุที่เข้าเว็บไซต์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ คือ 25-34 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
ถ้าสมมติให้เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ขายเสื้อผ้าผู้ชายวัยทำงาน ถ้าดูข้อมูลจาก Audience Report นี้ก็ถือว่าเรายิงโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายกับสินค้าเรามากๆ ในทางตรงข้าม กรณีเว็บไซต์นี้ขายเครื่องสำอางค์ แต่พอมาดู Audience Report ใน Google Analytics พบว่า คนเข้าเว็บไซต์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายซึ่งไม่น่าจะซื้อเครื่องสำอางค์แน่ๆ แสดงว่าเราก็ควรปรับเปลี่ยน keyword และ target ในการโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะซื้อสินค้าของเรา
อ่านเพิ่มเติม : Affinity & In-Market Interests คืออะไรใน Google Analytics ?
Acquisition Reports
รีพอร์ตนี้จะรายงานว่าผู้เข้าเว็บไซต์เรามาจาก ช่องทาง (channel) ใดบ้าง เช่น facebook, google, email, ช่องทางการอ้างอิง (referral) คือ เกิดจากเว็บไซต์อื่นนำ link ของเว็บไซต์เราไปขึ้นเพื่อเป็นการให้ credit เรากรณีที่นำ content ของเราไปใช้ หรือ แนะนำว่าเว็บไซต์ของเราเป็นประโยชน์ต่อ audience บนเว็บไซต์เขา
ยิ่งไปกว่านั้นเราสามารถดูข้อมูลจาก Adwords ผ่าน Google Analytics ได้ด้วย โดยทำการ link account ของ Google Analytics กับ Adwords ไว้ด้วยกัน (รายละเอียดจะอธิบายในบทความต่อๆ ไป)
ตัวอย่างข้อมูลแสดง channels
จากรูปคือค่า Default ของแต่ละ Channel ที่ Google Analytics ได้ทำการระบุไว้ ซึ่งจากข้อมูลจะแสดงให้เห็นว่า Display เป็น Channels ที่ทำให้คนเข้าเว็บไซต์เรามากที่สุดโดยคิดเป็น 81.6% เมื่อเทียบกับ Channel อื่นๆ ถ้าเราต้องการให้เว็บไซต์เราเป็นที่รู้จักมีคนเข้าเว็บไซต์เยอะๆ และจากข้อมูลใน Acquisition reports ได้บอกเราว่า การลงโฆษาณากับ Google Display networks ถือว่าตอบโจทย์กับสิ่งที่เราต้องการก็คือต้องการให้เว็บไซต์เราเป็นที่รู้จักมีคนเข้าเว็บไซต์เยอะๆ
บางคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าแต่ละ Channels ใน Google Analytics หมายถึงอะไรผมจะอธิบายความหมายของแต่ละ Channel แบบให้เข้าใจตรงกันนะครับ
Display = Google Display Network
Paid search = Google Adwords
Organic search = การ search โดยไม่ผ่าน Ads
Referral = มาจากการที่เว็บอื่นมีการแปะลิงค์ของเว็บไซต์เราไว้ เช่น มีคนเอาลิงค์ของเว็บไซต์เราไปแปะไว้ในกระทู้ Pantip
Other = เป็น Channels ที่ Google Analytics ระบุไม่ได้
Direct = การพิมพ์ชื่อเว็บไซต์เข้ามาตรงๆหรือทำการ Bookmark ไว้
Social = social network ทั่วไป เช่น Facebook , IG , Twitter เช่นเราอาจจะเอาลิงค์ของเว็บไซต์เราไปโพสใน Facebook
Email = Email
จากภาพแบนเนอร์ของ Lazada ด้านล่าง คือ Google Display Network ซึ่งแสดงตามเว็บไซต์ที่เป็นพันธมิตรกับ Google
จากภาพ ด้านบนคือ Paid search ซึ่งเป็นคำที่ได้ทำการซื้อโฆษณากับ Google Ads
ด้านล่างคือ Organic search ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้มีการซื้อโฆษณากับ Google Ads แต่ได้ติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของ Google
Behavior reports
รีพอร์ตนี้จะบอกพฤติกรรมของคนที่เข้ามาในเว็บไซต์เรา เช่น ใช้เวลากี่นาทีบนเว็บไซต์เรา เข้าที่หน้าไหน ไปที่หน้าไหนต่อ ออกหน้าไหน อ่านคอนเท้นท์อะไร แต่ละคอนเท้นท์ใช้เวลาเฉลี่ยในการอ่านเท่าไร ซึ่งเป็นประโยชน์เพื่อใช้พัฒนาคอนเท้นท์ของเรามาก ยกตัวอย่าง หน้าคอนเท้นท์หนึ่ง เป็นคอนเท้นท์ที่ยาวมาก อย่างน้อยต้องใช้เวลาขั้นต่ำ 2 นาที เพื่ออ่าน แต่จากข้อมูลกลับพบว่า คนอยู่ในหน้านี้ไม่ถึง 1 นาที เป็นไปได้ว่าคอนเท้นท์เราอาจจะไม่น่าสนใจ หรือ users เข้ามาอ่านและพบว่าเนื้อหาไม่ตอบโจทย์
จากรูป Landing Page คือ หน้าที่คนเข้าเว็บไซต์เป็นหน้าแรกโดยผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น Facebook, Google search ก็คือจากช่องทางไหนก็ได้จากนอกเว็บไซต์ของเรา ที่ไม่ใช่ Direct หรือการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์เข้ามาตรงๆ
Starting pages จะมีอยู่ 2 แบบ คือ
- หน้าที่มีการเข้าผ่านช่องทาง Direct หรือการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์เข้ามาตรงๆ บน Browser
- หน้าถัดจาก Landing page เช่นคลิ๊กเข้าเว็บไซต์มาจากโพสใน Facebook และไปโผล่ในหน้า A เมื่อเข้ามาหน้า A แล้ว จากนั้นทำการคลิ๊กต่อไปยังหน้า B และจาก หน้า B ทำการคลิกต่อไปยังหน้า C ซึ่งความหมายของ Google Analytics จะหมายความว่า หน้า A คือ Landing page หน้า B คือ Starting Page หน้า C คือ 1st Interaction
จากข้อมูลใน Behavior reports ของ Google Analytics เราจะเห็นพฤติกรรมการเข้าและออกของผู้ใช้เว็บไซต์ หรือ เข้าที่หน้าอะไร? ไปที่หน้าอะไร? และ ออกที่หน้าอะไร?
ถัดมาคือ ข้อมูลใน Behavior Reports ที่บอกว่าคนเข้าเว็บไซต์เรา เรียกดูหน้าไหนมากที่สุด หรือ Pageviews และใช้เวลาอยู่ไหนหน้านั้นโดยเฉลี่ยกี่นาที หรือ Avg. Time on Page ส่วน Unique Pageviews คือ การนับว่าจริงๆแล้วมีคนที่คลิ๊กดูหน้านี้กี่คน จะต่างจาก Pageviews ธรรมดา ตรงที่ถ้าคน 1 คนคลิกดูที่หน้า A ทั้งหมด 2 ครั้ง Pageviews จะเท่ากับ 2 แต่ Unique Pageviews จะเท่ากับ 1
Conversions Reports
การดูรีพอร์ตนี้ได้เราต้องทำการ Set up Goal หรือกำหนด Goal ใน Google Analytics ก่อน เช่น users สั่งซื้อสินค้า, สมัครสมาชิก หรือคลิกที่ปุ่มต่างๆ บนหน้าเว็บไซต์ (การ set up goal จะอธิบายในบทความต่อๆ ไป)
จากรูปจะพบว่า หน้า Landing Page ที่ 2 ที่มี Sessions ทั้งหมด 1,084 Sessions ซึ่ง Session คือ ช่วงเวลาช่วงหนึ่งที่ผู้ใช้ 1 คน เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ บนเว็บไซต์ และ Goal ของเว็บไซต์นี้คือการสั่งซื้อสินค้าซึ่งในรูประบุไว้ว่าเป็น Sales ซึ่งจากข้อมูลใน Report สรุปได้ว่า ในหน้า Landing Page ที่ 2 มี Session ทั้งหมด 1,084 Session เกิด Goal 1 ครั้ง ซึ่งในที่นี้คือ Sales คิดเป็นเงิน 1$ ซึ่งเกิด Goal น้อยมาก เมื่อเทียบกับหน้าที่ 1 ดังนั้นเราอาจต้องทำการปรับปรุงหน้า Landing page ที่ 2 เช่น อาจทำภาพให้สวยขึ้น บอกรายละเอียดสินค้ามากขึ้น เพื่อให้เกิด Goal เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
สรุปแทป Reports ทั้งหมดของ Google Analytic
Audience Reports = คนที่เข้าเว็บไซต์เราเป็นใคร
Acquisition Reports = คนที่เข้าเว็บไซต์เรามายังไงจากช่องทางไหน
Behavior Reports = คนที่เข้าเว็บไซต์เรา เข้ามาทำอะไรสนใจอะไร ใช้เวลาในเว็บไซต์เรานานแค่ไหน
Conversions Reports = เข้ามาแล้วได้ทำตามจุดประสงค์ของ เว็บไซต์ เราหรือไม่ เช่น สมัครสมาชิก หรือ ซื้อสินค้าของเรา
เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมคนที่มีเว็บไซต์ถึงควรศึกษาวิธีการใช้ Google Analytics เพราะมันสามารถดูภาพรวมของเว็บไซต์ได้และช่วยในเรื่องของการตัดสินใจในการซื้อโฆษณาออนไลน์ได้ ถึงตอนนี้ คุณสนใจใช้ Google Analytics เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ของคุณเข้าถึงกลุ่มคนที่ใช่ หรือยังครับ?
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Online Marketing
- Online Traffic หมายถึงอะไรกันแน่? ใน Google Analytic ควรดูตัวไหนดี?
- สอนดู Demographics Report ใน Google Analytics เจาะลึก Personas ของ users
- Affinity & In-Market Interests คืออะไรใน Google Analytics ?
- Chatbot คืออะไร ? และจะช่วยในการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างไร ?
- [Case Study] Manychat คืออะไร? รวมเทคนิคการใช้ Chatbot มาทำการตลาด