สำหรับใครที่ทำธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Local Business ที่ไม่ได้มีงบทำการตลาดมากมาย สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาที่คิดกันไม่ตกเลยก็คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ทำเป็นที่รู้จัก แน่นอนครับว่า การทำ SEO เป็นหนทาง หนึ่งที่ช่วยคุณได้ แต่รู้หรือไม่ครับว่า ยังมีอีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจรายเล็กสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบเฉพาะเจาะจงกว่า แถมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณตั้งร้านของคุณอีกด้วย!
ใช่แล้วครับ เทคนิคที่ผมพูดถึงก็คือ การทำ Local SEO สำหรับธุรกิจท้องถิ่น (Local Business) ที่จะช่วยทำให้เว็บไซต์ของคุณก้าวขึ้นสู่หน้า Seaech Engine อันดับต้นๆ ด้วย Keyword เฉพาะท้องถิ่นได้ ว่าแต่…จะทำอย่างไร? มีขั้นตอนอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง? และจะเหมาะกับธุรกิจของคุณจริงๆ หรือไม่? บทความนี้ผมมีคำตอบมาให้คุณทั้งหมดแล้วครับ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
Local SEO คืออะไร
Local SEO คือ กลยุทธ์การทำการตลาดรูปแบบหนึ่ง สำหรับธุรกิจท้องถิ่น (Local Business) โดยจะมุ่งเน้นการทำ SEO ให้ติดใน Keyword (คำค้นหา) เฉพาะพื้นที่ ซึ่งจะจำกัดวงคู่แข่งในการทำ SEO อยู่แค่บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งร้าน ในภูมิภาคเดียวกันกับธุรกิจของคุณ หรือกำหนดจากการการค้นหาด้วยภาษาท้องถิ่นก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น คุณมีธุรกิจร้านกาแฟ และต้องการทำเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรกบน Google แต่การที่จะทำให้ติดใน Keyword ที่มีการแข่งขันสูง เช่น “ร้านกาแฟ” ก็อาจจะเป็นเรื่องยาก และอาจจะไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่จะสามารถเดินทางมายังร้านของคุณได้จริง
ดังนั้น การระบุรายละเอียดเพิ่มเติมของสถานที่ลงไป เช่น “ร้านกาแฟ อารีย์” หรือ “ร้านกาแฟ อารีย์ ซอย 5” ซึ่งถ้าคุณยิ่งระบุคำค้นหาให้มีสถานที่ หรือภาษาท้องถิ่นที่ใช้เรียกชัดเจนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายค้นหาเว็บไซต์ของคุณเจอได้ง่าย และช่วยทำให้เว็บไซต์ติดหน้า Google ในหน้าแรกๆ ได้มากกว่าการทำ SEO ใน Keyword อื่นๆ ที่มีการแข่งขันสูง และอาจต้องใช้เวลานานในการทำอันดับในระยะยาว
Local SEO สำคัญอย่างไร ?
การทำ Local SEO สำหรับ Local Business นอกจากจะช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมาย (Target) สามารถค้นหาคุณเจอจากการติดอันดับบน Search Engine ได้ง่ายมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการนำเอาวิธีการทำการตลาดแบบ Niche Marketing มาปรับใช้โดยการเน้นเข้าหากลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม ซึ่งคุณมีโอกาสเอาชนะธุรกิจเจ้าใหญ่ๆ ได้
เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้ลงมาโฟกัสในพื้นที่ธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่ จึงทำให้คุณใช้ช่องว่างเหล่านี้ในการสร้างตัวตนของธุรกิจได้ดีกว่า แถมยังช่วยประหยัดเวลาในการทำ SEO รวมถึงประหยัดงบประมาณในการลงทุนเพื่อเข้าแข่งขันในการทำอันดับอีกด้วย
นอกจากนี้การทำ Local SEO ยังช่วยให้คุณมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนและแม่นยำแบบสุดๆ เพราะจากสถิติจาก HubSpot ระบุไว้ว่า ปกติแล้วมีคนค้นหาข้อมูลบน Google ด้วยการใช้ Local Intent หรือการระบุสถานที่ตั้งของธุรกิจแบบชัดเจนสูงถึง 46% และมีผู้ใช้งานถึง 88% ค้นหาธุรกิจแบบ Local Business บนมือถือ เพื่อโทรสอบถามข้อมูล จากนั้นค่อยเดินทางไปที่ร้านภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้คุณมั่นใจได้ว่า จะได้ลูกค้าแน่นอนจากการที่เป็นธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งเดินทางมาสะดวกสบายสำหรับกลุ่มเป้าหมายมากกว่านั่นเอง
แนวคิดการทำ Local SEO
สำหรับแนวคิดในการทำ Local SEO ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และทำให้การทำ Local SEO เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ผมขอสรุปไว้ดังนี้ครับ
- การทำ Local SEO คือการทำ Longtail Keyword รูปแบบหนึ่งครับ แต่คุณต้องให้ความสำคัญกับ Longtail Keyword เหล่านี้มากๆ และควรเก็บ Keyword และทำ On-Page ให้ครอบคลุมทุกคำค้นหา แม้ว่าคำนั้นจะมี Search Volume ที่น้อยมากก็ตาม
- การทำ Local SEO ควรทำทั้งบนเว็บไซต์และบน Google My Business ควบคู่กันไป มากกว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
- คุณควรสำรวจและตรวจสอบคู่แข่งว่าพวกเขาทำอะไรดีจึงติดอันดับ หลังจากนั้นนำมาปรับปรุงเว็บไซต์ และ GMB ของคุณเพิ่มเติม
- คุณสามารถทำ Local SEO ใน Keyword คู่แข่งได้ โดยการทำ On-Page เก็บ Longtail Keyword ในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ธุรกิจของคุณเอง (แต่ธุรกิจก็ควรที่จะสามารถส่งสินค้าหรือให้บริการได้ทั่วถึงใน Keyword ที่เราทำไปด้วยนะครับ)
- แนะนำให้เริ่มต้นทำ Local SEO ในพื้นที่ของคุณจนติดอันดับก่อนจะค่อยๆ กระจาย Keyword ไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ธุรกิจของคุณจะสามารถเข้าไปให้บริการถึงได้ เช่น คุณทำธุรกิจรับถ่ายรูปปริญญา แน่นอนว่า คุณสามารถไปถ่ายรูปได้ในทุกมหาวิทยาลัย แต่จะดีกว่าไหม ถ้าธุรกิจของคุณเป็นที่รู้จักและหาเจอในพื้นที่ก่อนแบบไม่ต้องเดินทางไกล แล้วหลังจากนั้นค่อยๆ ปั้นเว็บไซต์และ GMB ให้ติดอันดับใน Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมทีหลัง
ตัวอย่าง Local SEO keyword
ในการทำ Local SEO keyword ไม่มีการจำกัดความยาวของ Keyword แต่ว่าควรทำให้ Algorithm ของ Search Engine เข้าใจได้ว่าเว็บไซต์ของธุรกิจคุณอยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ และควรเป็นคำที่คนในพื้นที่ตั้งธุรกิจของคุณใช้ในการค้นหาจริงๆ ด้วย ซึ่งปกติจะมีโครงสร้างเป็น Longtail Keyword คือ “ประเภทธุรกิจ + พื้นที่” เช่น
- ร้านกาแฟ + ชื่อจังหวัด ตามด้วย ชื่ออำเภอ เช่น “ร้านกาแฟ เชียงใหม่ แม่ริม” หรืออาจจะตามมาด้วยชื่อถนน/ซอยที่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยม เช่น “ร้านกาแฟ เชียงใหม่ นิมมาน”
- โรงแรม + ชื่อจังหวัด ตามด้วย ชื่ออำเภอ หรือตำบล เช่น “โรงแรมชลบุรี บางแสน” หรือจะใช้ Keyword ที่พ้องความหมาย เช่น “ที่พักชลบุรี บางแสน”
- เช่ารถ + ชื่อจังหวัด เช่น “เช่ารถ ภูเก็ต”
- ร้านถ่ายรูป + ชื่อจังหวัด ตามด้วย ชื่ออำเภอ เช่น “ร้านถ่ายรูป เชียงใหม่ หางดง” หรืออาจจะมีการเพิ่มรูปแบบของบริการเพื่อเจาะจงเพิ่มเติมก่อนจะตามด้วยชื่อจังหวัด เช่น “ร้านถ่ายรูปสมัครงาน เชียงใหม่”, “ร้านถ่ายรูปครอบครัว เชียงใหม่”
- ถ่ายรูปรับปริญญา + ชื่อมหาวิทยาลัย เช่น “ถ่ายรูปรับปริญญา จุฬา” หรือ ถ่ายรูปรับปริญญา + ชื่อจังหวัด เช่น “ถ่ายรูปปริญญา กทม”
- โรงงาน + ประเภทอุตสาหกรรม + ชื่อจังหวัด เช่น “โรงงานน้ําแข็ง สมุทรปราการ”, “โรงงานผลิตเสื้อผ้า ขอนแก่น”
- บริษัท + ประเภทธุรกิจ + ชื่อจังหวัด เช่น “บริษัททําบัญชี นนทบุรี”
- คลินิก + ประเภทธุรกิจ + ชื่อจังหวัด เช่น “คลินิกจัดฟัน นครปฐม” หรือ “คลินิกทำฟัน นครปฐม”
ส่วนธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะเป็น Keyword ที่ค้นหาในพื้นที่ตามเขต ซอย หรือย่าน เป็นส่วนใหญ่ เช่น “คาเฟ่ พญาไท” (เขต), “คาเฟ่ อารีย์” (ย่าน/ซอยที่อยู่ในเขตพญาไท) เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ควรที่จะทำ Keyword Research เพิ่มเติมว่าในพื้นที่ธุรกิจของคุณนั้นนิยมใช้คำค้นหาแบบไหนบ้าง
นอกจากนี้ยังมี Keyword ที่คนนอกพื้นที่มักใช้ในการเสิร์ชเพื่อค้นหาสถานที่ไม่คุ้นเคยอยู่บ่อยๆ เช่น หากคุณไม่เคยเดินทางไปเชียงรายเลย แน่นอนว่า คุณไม่คุ้นเคยกับพื้นที่นี้ แต่ว่าคุณต้องการหาร้านอาหารอร่อยๆ ทาน คำค้นหาที่มักจะใช้เลยก็คือ “ร้านอาหารใกล้ฉัน” หรือ “Cafe Near Me” ซึ่ง Keyword เหล่านี้คือ Local SEO ด้วยเช่นเดียวกัน
Local SEO เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
Local SEO จะเหมาะมากๆ สำหรับธุรกิจที่มีสถานที่ตั้งร้านชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภท SMEs หรือธุรกิจทั่วไป เช่น ร้านทำผม ร้านสปา ร้านนวด ร้านอาหาร โรงแรม รวมไปถึงธุรกิจขนาดย่อม ร้านท้องถิ่น ร้านในระดับจังหวัด อำเภอหรือเขต เพียงแต่ต้องระบุขอบเขตของพื้นที่หรือที่ตั้งของธุรกิจให้ชัดเจน จึงจะให้ผลดีในการแสดงผลลัพธ์การ Search บนหน้า Search Engine
ตัวอย่างผลลัพธ์ของ Local SEO บน Google
ตัวอย่างผลลัพธ์การเสิร์ชของ Local SEO Keyword บนหน้า Google ซึ่งเป็น Search Engine ยอดนิยม จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 รูปแบบคือ
- Organic Search Result ซึ่งเป็นหน้าเว็บไซต์ที่ทำ SEO จนติดอันดับบนหน้า Google
- Local Pack เป็นการแสดงข้อมูลในรูปแบบของพิกัดที่ตั้งจากพื้นที่ของ Google Map โดยฟีเจอร์นี้จะแสดงผลการค้นหาในกลุ่มสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน โรงงาน ฯลฯ ซึ่งจะจัดอันดับโดยข้อมูลที่มีรีวิวมากที่สุด ใครที่ทำคะแนนบน Google Map ดีก็มีโอกาสติดอันดับดีๆ บนหน้า Google ด้วยเช่นเดียวกัน
ขั้นตอนการสมัคร Google My Business
Google My Business (GMB) คือ เครื่องมือที่ช่วยจัดการกับธุรกิจของคุณบนหน้า Google และช่วยสนับสนุนร้านค้าและธุรกิจประเภท Local Business ให้สามารถเพิ่มข้อมูลในฐานข้อมูลของ Google ได้ ทำให้ข้อมูลธุรกิจของคุณปรากฏบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Google เช่น Maps และ Search ซึ่งการจะใช้งาน GMB ได้นั้นคุณก็ต้องทำการสมัครก่อน ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.กดเข้าเว็บไซต์ https://www.google.com/intl/th_th/business/
2.ลงชื่อเข้าใช้งาน (Login) ด้วยบัญชี Gmail หากยังไม่มีทำการสมัครบัญชี Gmail ก่อนนะครับ
3.เมื่อทำการ Login แล้วจะพบหน้า ‘ค้นหาและจัดการธุรกิจของคุณ’ ซึ่งถ้าคุณเคยสมัครและปรับแต่งข้อมูลมาก่อนแล้วจะสามารถค้นหาชื่อธุรกิจแล้วเข้าไปแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหน้านี้เลย
4.แต่ถ้าหากสมัครใหม่ให้คลิกที่ ‘เพิ่มธุรกิจของคุณใน Google’
5.หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการสร้างข้อมูลธุรกิจของคุณแล้วครับ โดยให้คุณใส่ชื่อธุรกิจ และเลือกหมวดหมู่ที่ตรงกับธุรกิจของคุณมากที่สุด โดยจะมี Suggestion หมวดหมู่ขึ้นมาให้หลังจากคุณพิมพ์ค้นหา จากนั้นให้กด ‘ถัดไป’
6.หลังจากนั้นจะมีให้คุณเลือกว่าต้องการจะแสดงตำแหน่งใน Google Maps และ Search เมื่อลูกค้าค้นหาธุรกิจของคุณหรือไม่ หากคุณต้องการให้ตอบ ‘ใช่’ แล้วกด ‘ถัดไป’
7.กรอกข้อมูลที่อยู่บริษัทหรือที่ตั้งธุรกิจของคุณให้ครบถ้วน หลังจากนั้นกด ‘ถัดไป’
8.ตรวจสอบที่ตั้งของธุรกิจบนพื้นที่ Google Map ให้เรียบร้อยแล้วกด ‘ถัดไป’
9.หากธุรกิจของคุณสามารถให้บริการนอกพื้นที่ได้ด้วย คุณสามารถเลือกคำตอบ ‘ใช่แล้ว ฉันให้บริการในพื้นที่อื่นๆ ด้วย’ แล้วก็คลิก ‘ถัดไป’
10.คุณสามารถเพิ่มพื้นที่ (Area) โดยรอบที่ตั้งสถานที่ของธุรกิจของคุณได้ โดยเลือกให้ครอบคลุมจากพื้นที่ใหญ่สุด-ไปพื้นที่เล็กสุด ระบุได้สูงสุดที่ 20 พื้นที่ (ส่วนนี้ไม่บังคับนะครับ แต่แนะนำให้กรอก) หลังจากนั้นให้กด ‘ถัดไป’
11.กรอกข้อมูลติดต่อสำหรับลูกค้า โดยจะมีให้กรอกเป็นเบอร์โทร และ URL เว็บไซต์ร้านหรือบริษัทของคุณ แต่ถ้าหากคุณยังไม่มีเว็บไซต์สามารถเลือก ‘ฉันไม่อยากมีเว็บไซต์’ หรือถ้าอยากสร้างเว็บไซต์แล้วอยากสร้างง่ายๆ คุณสามารถเลือก ‘สร้างเว็บไซต์ฟรีด้วยข้อมูลของคุณ’ ซึ่งเป็นบริการของ Google เอง หลังจากนั้นเลือก ‘ถัดไป’ (แต่ถ้ายังไม่มีข้อมูลสามารถกด ‘ข้าม’ ได้)
12.จะมีข้อความว่า คุณต้องการอัปเดตและได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจหรือไม่ หากต้องการให้ Google ส่งข้อมูลให้เพิ่มเติมให้เลือก ‘ใช่’ แล้วกด ‘ถัดไป’
13.หลังจากนั้นจะมีข้อมูลระบุว่า ยืนยันการสมัครเรียบร้อย ให้คุณกด ‘ถัดไป’ ได้เลยครับ
14.หลังจากนั้นจะเป็นส่วนของการจัดการโปรไฟล์เพิ่มเติม โดยคุณสามารถเพิ่มข้อมูลต่างๆ ได้ ดังนี้
- เพิ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ เช่น การขายทางโทรศัพท์ เป็นต้น
- เพิ่มเวลาทำการ
- เพิ่มการรับส่งข้อความ ให้ลูกค้าสามารถส่งข้อความหาคุณได้ใน Google แบบฟรีๆ
- เพิ่มคำอธิบายธุรกิจ เช่น จุดขาย สรรพคุณต่างๆ
- เพิ่มรูปภาพของธุรกิจ ซึ่งคุณเพิ่มได้หลากหลายประเภทเลย เช่น โลโก้ร้าน, รูปภาพปก + ข้อมูลระบุตัวตน, รูปภาพของธุรกิจ (แสดงไฮไลท์ต่างๆ), วิดีโอ เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถดูข้อกำหนดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
- เพิ่มโฆษณาบน Google Ads
15.หลังจากนั้นจะเด้งเข้าสู่หน้า Dashboard ซึ่งเป็นหน้าจัดการโปรไฟล์ Google My Business ซึ่งคุณสามารถกดแก้ไขข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงดูสถิติภาพรวมที่เป็น Insight ของผู้ใช้งานทั้งพฤติกรรม หรือรีวิวอื่นๆ ได้จากหน้านี้เลยครับ
วิธีการทำ Local SEO
หลังจากทำความเข้าใจกับ Local SEO และสมัครใช้งาน Google My Business กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้เรามาดูวิธีการทำ Local SEO ให้ได้ผลกันดีกว่าครับ โดยวิธีการทั้งหมดนี้จะเป็นการตกแต่งโปรไฟล์ Google My Business ให้สมบูรณ์มากขึ้น บวกกับการทำ On-Page และ Off-Page ที่ช่วยให้คุณขึ้นสู่อันดับที่ต้องการ เพื่อให้ลูกค้าเสิร์ชหาเจอได้ง่ายขึ้นนั่นเอง มาดูกันดีกว่าครับว่ามีอะไรที่คุณต้องทำบ้าง
1.ปรับปรุง Google My Business ให้สมบูรณ์
วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการกรอกข้อมูลที่จำเป็นบน Google My Business ในหัวข้อต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
- ใส่ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ชื่อกิจการ/ชื่อบริษัท + Keyword ที่เกี่ยวข้องสัก 1-2 คำ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา, เพิ่มที่อยู่, เบอร์, เว็บไซต์ รวมถึงอีเมล เพื่อบ่งบอกถึงการมีตัวตนอยู่ ซึ่งจะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
- เพิ่มคำอธิบาย (Description) ของธุรกิจ ในส่วนนี้อย่าลืมใส่ Keyword สำหรับ SEO เข้าไปด้วยนะครับ
- ใส่รูปภาพ ที่ไม่ใช่แค่ใส่ไว้ให้ ‘มี’ แต่ต้อง ‘สวยและดึงดูด’ โดยใส่ไปสักประมาณ 8 รูปขึ้นไปจะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มรีวิวจากลูกค้า อาจจะทำการตลาด โดยการแจกของรางวัลสำหรับคนที่เคยมา Check-in ที่ร้าน ให้พวกเขาทำการเขียนรีวิวให้กับร้านเพิ่มเติม โดยอาจจะให้ใส่ Keyword เพิ่มเติมที่อยากได้ลงไปเล็กน้อย เช่น รีวิวคาเฟ่ร้าน XXX เพื่อให้เสิร์ชแล้วเจอข้อความเหล่านี้ (แต่อย่าทำการจ้างอย่างเดียวนะครับ เพราะ Google จะตรวจสอบได้ว่า ผู้เขียนรีวิวเคยมายังตำแหน่งร้านจริงๆ หรือไม่ และสามารถตรวจสอบเพื่อลบรีวิวปลอมเหล่านั้นได้ด้วย)
- อัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ โดยให้คุณคิดเสียว่า GMB เป็นเหมือนกับ Facebook Page ที่คุณจะต้องเข้ามาโพสต์ เพิ่มคอนเทนต์ หรือเติมแต่งส่วนเพิ่มเติม
อย่างเช่น การใส่ผลิตภัณฑ์ (Product) โดยคุณจะต้องระบุผลิตภัณฑ์หลักของคุณทั้งหมด พร้อมใส่ Keyword ที่จะต้องการทำอันดับลงไปในส่วนของข้อมูลด้วย (อ่านข้อมูลวิธีการสร้างและแก้ไขได้ที่นี่)
2.สร้างหน้า Local Location Page บนเว็บไซต์
คุณสามารถสร้างเนื้อหาเว็บไซต์ให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่นั้นๆ ด้วย Longtail Keyword ซึ่งเป็น Keyword เดียวกันกับที่คุณใช้ทำอันดับบน Google Map โดยทำหน้า Landing Page นี้ออกมาเป็นหน้าแยกจากหน้า Keyword หลักที่คุณต้องการทำอันดับด้วย เช่น คุณทำเว็บไซต์เกี่ยวกับธุรกิจจัดฟัน
หน้าเว็บไซต์หลัก อาจจะใช้เป็น Keyword “คลินิกจัดฟัน” หรือ “คลินิกทำฟัน”
ส่วนหน้า Local Location Page ที่ทำแยกออกมาอาจจะใช้ Longtail Keyword ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดหรือคำค้นหาที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในด้านพื้นที่ เช่น “คลินิกจัดฟัน สยาม” “คลินิกจัดฟัน ใกล้สยาม” “คลินิกจัดฟันแถวสยาม”ฯลฯ
ซึ่งการทำ Local Location Page เช่นนี้จะเหมาะทั้งสำหรับธุรกิจที่ต้องการทำอันดับ SEO รวมไปถึงธุรกิจที่มีหลายสาขา ก็จะช่วยให้คุณสามารถเก็บ Keyword ที่ทำไว้เฉพาะของแต่ละสาขา ให้สอดคล้องกับคอนเทนต์ในสาขานั้นๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
3.ปรับปรุง On-Page เว็บไซต์เพิ่มเติม
การจะทำอันดับได้ดีทั้งบน Google Map และบน Search นอกจากจะปรับปรุง Google My Business แล้วคุณจะต้องปรับปรุง On-Page ของเว็บไซต์ในหน้า Local Location Page ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นก่อนด้วย โดยมี Checklist ที่คุณต้องรู้ ดังนี้
- ปรับปรุง Longtail Keyword : ผมได้บอกไปแล้วนะครับว่า ในหน้า Local Location Page ควรจะใช้ Longtail Keyword เจาะจงลงไปในสถานที่ตั้งของธุรกิจให้มากขึ้น โดยสามารถนำ Keyword เหล่านี้ไปใส่ได้ทั้งใน Title, Meta Description และในเนื้อหา โดนคุณจะต้องใส่ Keyword จำพวกชื่อสถานที่ ซอย เขต หรือจังหวัดเข้าไปด้วย
แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะหา Longtail Keyword แนะนำให้ลองใช้เครื่องมือที่ช่วยทำ SEO Keyword Research ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตัวด้วยกัน เช่น Google Keyword Planner, Ubersuggest, Keywordtool.io, Kwfinder.com ฯลฯ ดูก็ได้ครับ
- ทำ Personalize Content ให้ตรงกับ Keyword : หากคุณไม่อยากถูก Google มองว่าเป็นเว็บไซต์ที่เน้นการสแปม Keyword ก็ควรจะทำเนื้อหาบนหน้า Local Location Page ให้ตรงกับ Keyword ที่ใช้มากขึ้น รวมถึงควรทำเนื้อหาคอนเทนต์แวดล้อมให้ตรงกับ Search Intent ของพวกเขาเพิ่มเติม เพื่อส่งพลังให้หน้าเว็บไซต์ของคุณทำอันดับ SEO ได้ดีขึ้นด้วย เช่น หากธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจรับเหมา ในจังหวัดภูเก็ต อาจจะมีการทำคอนเทนต์ให้ความรู้เรื่อง การเลือกสีทาบ้านที่ทนทานต่อลมทะเล เป็นต้น
- ทำ Internal Link ในหน้าที่เกี่ยวข้อง : อย่าลืมทำลิงก์ไปยังบทความที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ของคุณเอง เพื่อให้ Google รู้และเข้าใจได้ว่า เนื้อหาแต่ละหน้าสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง
- ทำ Mobile Friendly : ผู้ใช้งานมักเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับ Local Business ด้วยมือถือ ดังนั้น จึงควรลงทุนออกแบบให้เว็บไซต์แสดงผลได้ดี และใช้งานได้สะดวกสบายบนมือถือด้วย
- เพิ่มตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจลงบนเว็บไซต์ : โดยการฝัง Google Map ลงไปบนหน้า Local Location Page โดยตรง แต่ถ้าใครไม่สามารถฝังแผนที่ได้ แนะนำให้ใส่เป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงมายังแผนที่แทนครับ
- ใส่รายละเอียดของธุรกิจบน Local Location Page ให้ครบถ้วน : เช่น ช่วงเวลาให้บริการเปิด-ปิด, ที่อยู่, เบอร์ติดต่อ, ข้อมูลสินค้าและบริการ, รีวิวของลูกค้า, ข้อมูลโปรโมชั่น เป็นต้น
4.ทำ Off-Page ให้กับเว็บไซต์
นอกจาก On-Page แล้ว แน่นอนว่า การทำ Off-Page ก็สำคัญสำหรับการทำ Local SEO ด้วยเช่นเดียวกันครับ ซึ่งผมได้รวบรวมเทคนิคการทำ Off-Page เพื่อการทำ Local SEO มาให้แล้ว ดังนี้
- เพิ่มแผนที่ไปยัง Social Media : หากคุณมีช่องทาง Social Media อื่นๆ ที่สามารถแปะลิงก์แผนที่ หรือ Embed แผนที่ Google Map ลงไปได้ให้นำไปใส่ไว้ด้วย
- สร้าง Local Citations : เป็นวิธีการเดียวกันกับการทำ Backlink แต่ว่าจะเจาะจงไปยังเว็บไซต์ที่เป็นเว็บข่าวท้องถิ่น, ธุรกิจที่มีชื่อเสียงในพื้นที่, องค์กรการกุศลหรือผู้ให้การสนับสนุน ให้ทำการ Backlink ส่งกลับมาหน้า Local SEO ของคุณจากการลงคอนเทนต์ ติดประกาศ หรือทำแบนเนอร์ก็ได้
- หาเว็บไซต์ Listing ที่เหมาะกับสินค้า เพื่อช่วยรีวิว : เว็บไซต์ช่วยรีวิวธุรกิจ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำอันดับ SEO ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีเว็บไซต์ประเภท Listing ที่เปิดให้บริการสำหรับรีวิวธุรกิจมากมาย เช่น Wongnai, Tripadvisor, Yellowpages เป็นต้น ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้นอกจากจะช่วยในเรื่องการทำ SEO แล้วยังช่วยในเรื่องการโปรโมตธุรกิจของคุณให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย (และอย่าลืม Embed Maps หรือแนบลิงก์แผนที่ Google Map ไว้ในโปรไฟล์ด้วยนะครับ)
5.สร้าง Local Link จากการทำ Event ต่างๆ
เป็นวิธีการทำการตลาดแบบ Offline เพื่อโปรโมตธุรกิจอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อทำให้ได้มาซึ่ง Local Link ที่มีคุณภาพ เช่น หาโอกาสใช้ร้านเป็นพื้นที่จัดงานกิจกรรมต่างๆ ในท้องถิ่น, หา Partner ทางธุรกิจในละแวกพื้นที่เดียวกัน, การให้ส่วนลดพิเศษสำหรับห้างร้านหรือบริษัทในพื้นที่นั้นๆ เป็นต้น ซึ่งการโปรโมตรูปแบบนี้ก็ช่วยให้เกิดการ Backlink กลับมายังเว็บไซต์ของคุณ รวมถึงช่วยสร้าง Brand Awareness ได้อีกทางหนึ่งด้วย
สรุป
สรุปแล้วการทำ Local SEO มีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนทำ Local Business ไม่ว่าจะเป็น…
- ช่วยในการทำอันดับบน Search Engine จากการหลีกเลี่ยงการแข่งขันทำ SEO แบบกว้างๆ
- ช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เป็นการทำ Niche Marketing ไปในตัว
- ช่วยให้การทำ Personalized Content ถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
- ช่วยให้ร้านค้าหรือธุรกิจแสดงในหน้าผลการค้นหาแบบ Google Map
- ช่วยให้ธุรกิจได้รับความน่าเชื่อถือ จากการเห็นคะแนนรีวิวหรือความคิดเห็นจริงของลูกค้าที่เคยมาซื้อหรือใช้บริการ
แต่การจะทำ Local SEO ให้ประสบความสำเร็จด้วย Checklist ทั้งหมดที่ผมให้ไปนั้นก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอสมควรครับ ซึ่งถ้าคุณคำนวณแล้วว่า ไม่มีเวลามาก แต่มีงบประมาณในการลงทุนทำการตลาดในช่องทางนี้ การเลือกจ้างบริษัทรับทำ SEO ที่เน้นการทำ SEO ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้คุณทำ Local SEO ติดอันดับไวขึ้น แต่ถ้าคุณต้องการลงมือทำเอง ผมแนะนำว่าให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การผลักดันและการรักษาอันดับ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วพบกันในบทความหน้านะครับ 🙂