ใครที่มีแพลนอยากจะทำเว็บไซต์ แต่ไม่ได้มีความรู้ในการเขียนโค้ดเองฟังทางนี้ ในปัจจุบันไม่ต้องลงมือเขียนเว็บไซต์เองแล้ว เพราะเรามีตัวช่วยในการทำเว็บไซต์อย่าง “WordPress” ว่าแต่…WordPress คืออะไร มีข้อดีแบบไหน และจะสมัครใช้งานอย่างไร วันนี้ NerdOptimize ของเราที่ใช้ WodPress ในการทำ SEO อยู่บ่อยๆ จะมาบอกถึงขั้นตอนการใช้งานแบบละเอียดให้ได้ฟังกันครับ!
WordPress คืออะไร
ที่มาภาพ: www.hostinger.com
WordPress คือ โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการสร้างเว็บไซต์ที่เรียกกันว่า Content Management System หรือย่อสั้นๆ เป็นคำว่า CMS ที่คนอยากทำเว็บไซต์สามารถลงมือสร้างเว็บไซต์ที่มีระบบสร้างคอนเทนต์ เติมบทความ ลงรูปภาพและวิดีโอ ไปจนถึงทำระบบจัดการข้อมูลหรือสินค้าได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนโค้ดเองให้เสียเวลา โดยคุณสามารถใช้งาน WordPress ได้ 2 แบบ ได้แก่ WordPress.org และ WordPress.com
WordPress.org ต่างกับ WordPress.com อย่างไร
- WordPress.org ที่เป็น Open-source ที่สามารถเข้ามาสร้างและใช้งานได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดตั้ง Plug-in รวมถึง Theme เองได้ และสามารถทำเว็บไซต์ได้หลากหลายรูปแบบ แต่ต้องเชื่อมต่อทำฐานข้อมูลเองทั้งหมด
- WordPress.com ที่เป็นการสร้างเว็บไซต์ในสไตล์การทำ Blog ที่ไม่จำเป็นต้องมี Domain หรือ host ก็สามารถทำเว็บไซต์ขึ้นมาได้ พร้อมทำการอัปเดตเวอร์ชันแพลตฟอร์มให้โดยอัตโนมัติ
ใช้ WordPress ดียังไง
สำหรับข้อดีของการใช้ WordPress นั้นมีหลายอย่าง (ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นที่นิยมไปทั่วทั้งโลก) ซึ่งเราจะขอรวบรวมประโยชน์หลักๆ มาให้ ดังนี้
WordPress สามารถใช้งานได้ฟรี
คุณสามารถติดตั้งและใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฟรีไปซะหมดนะครับ เพราะการทำเว็บไซต์ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่ เช่น การซื้อชื่อโดเมน, การซื้อ Plug-in, การซื้อ Theme เป็นต้น
มีฟีเจอร์ให้เลือกใช้งานหลากหลาย
WordPress มีฟีเจอร์ที่ให้คุณสามารถเพิ่มตัวเลือก Extensions และ Plugins ที่จำเป็นให้เลือกใช้งานที่หลากหลาย ทำให้สามารถปรับปรุงเว็บไซต์ได้ตามที่ต้องการ
ใช้ทำ SEO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากใช้ WordPress เพื่อทำ SEO นั้นเหมาะเป็นอย่างมาก เพราะมี Plugins ที่ช่วยสนับสนุนในการทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Yoast SEO เป็นต้น จึงมักมีอันดับที่สูงกว่าเว็บไซต์อื่นเนื่องจากเป็นมิตรกับการทำ SEO นั่นเอง
ใช้งานได้อย่างสะดวกจากการมีแถบเครื่องมือที่เข้าใจง่าย
แม้เป็นมือใหม่ก็สามารถดูแลเว็บไซต์บน WordPress ได้ง่าย เพราะ WordPress มีแถบเครื่องมือที่ให้เลือกใช้ได้ง่าย ทำให้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
WordPress สมัครยังไง
สำหรับใครที่ต้องการเริ่มต้นใช้งาน WordPress ให้ทำตามวิธีการสมัครการใช้งานได้เลย ดังนี้
เลือกซื้อโดเมน
การที่คุณจะมีเว็บไซต์ได้อย่างแรกให้ทำการเลือกซื้อโดเมนหรือซื้อชื่อของเว็บไซต์จากบริษัทรับจดโดเมนที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น Hostatom, GoDaddy, Namecheap เป็นต้น ซึ่งการจดชื่อโดเมนควรมีหลักการตั้งชื่อที่ดี และนำไปใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ควรตั้งชื่อโดเมนให้กระชับ สั้น และเข้าใจง่าย
- ไม่ตั้งชื่อซ้ำกับแบรนด์ใหญ่ๆ หรือสินค้าอื่นที่มีในตลาด
- ไม่ควรจดชื่อด้วยคำ Keyword ตรงๆ
- ควรตั้งชื่อโดเมนเป็นภาษาอังกฤษ
- อย่าตั้งชื่อโดเมนที่สะกดหรือพิมพ์ยาก
- อย่าใช้นามสกุลของโดเมนที่ดูแปลกตาจนเกินไป เช่น ใช้นามสกุล .com เป็นต้น
เลือกใช้ Hosting
การเลือกใช้ Hosting เองก็มีความสำคัญ เพราะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้ดี โดยหลักการเลือกใช้ Hosting จะมีอะไรบ้าง ดูได้ด้านล่างนี้เลยครับ
- หากคุณเพิ่งเริ่มต้นทำเว็บไซต์สามารถเลือกใช้ Hosting ไทยได้ เช่น Hostatom, Rukcom ฯลฯ เพราะเป็นโฮสติ้งที่เราสามารถพูดคุยรู้เรื่องได้ง่าย นอกจากนี้ การเลือก Hosting ที่ตั้งอยู่ในประเทศ ยังช่วยให้ผู้ใช้เว็บไซต์เข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า ไม่ต้องวิ่งไปหาข้อมูลที่ต่างประเทศ
- ดูว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ประเภทไหน เช่น หาเป็นเว็บบล็อกที่มีผู้ใช้งานไม่มาก ก็สามารถเลือกใช้บริการ Shared Hosting ได้ เป็นต้น
- เลือกขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้เพียงพอกับขนาดเว็บไซต์ที่ทำ เช่น Disk (พื้นที่), Bandwidth (ปริมาณรับส่งข้อมูล), จำนวนอีเมล, จำนวนฐานข้อมูลที่ใช้ได้ เป็นต้น
- เลือกฟีเจอร์และระบบการจัดการเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ดูว่ามีระบบสำรองข้อมูลในกรณีที่เซิร์ฟเวอร์เกิดปัญหามีประสิทธิภาพแค่ไหน เป็นต้น
- มีบริการก่อนและหลังการขายที่ดี เช่น ถาม-ตอบเร็ว มีช่องทางในการติดต่อที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน เวลาที่มีปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
- ควรเป็น Hosting ที่มีราคาสมเหตุสมผล ไม่ถูกจนเกินไปหรือแพงจนเกินไป
สมัครและติดตั้ง WordPress
แนะนำวิธีการติดตั้ง WordPress แบบ Manual ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- เริ่มต้นโดยการดาวน์โหลดโปรแกรม WordPress .zip หรือ .tar.gz ที่ https://wordpress.org/download/
- นำไฟล์ที่ดาวน์โหลดขึ้นไปยัง Hosting ที่สมัครมาแล้ว โดยมีวิธีการให้เลือกใช้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
- ใช้โปรแกรม FTP ในการอัปโหลดข้อมูล
- จัดการข้อมูลผ่านระบบจัดการ Control Panel Hosting
- ดำเนินการ Extract File ที่ดาวน์โหลดมา
- สร้าง MySQL Database และ Database User เพื่อใช้เป็นข้อมูลระหว่างทำขั้นตอน Install WordPress
- เปิดบราวเซอร์ เช่น GoogleChrome ในส่วน URL พิมพ์ชื่อ DomainName ตัวอย่าง เช่น http://www.domainname/wp-admin/install.php เลือกภาษาที่ต้องการ แล้วกด Continue
- หลังจากนั้นจะมีหน้าให้กรอกรายละเอียดเพิ่มเติม โดยให้คุณใส่รายละเอียดเหล่านี้ลงไป
- Site Title : ให้ใส่ชื่อเว็บไซต์
- Username : ให้ตั้ง Username ที่ใช้ Login เข้า WordPress
- Password : ให้ตั้ง Password ที่ใช้ Login เข้า WordPress
- Your E-Mail : ใส่อีเมลของคุณ
- Privacy : ส่วนนี้จะเป็นการอนุญาตให้ Search Engine เข้ามาเก็บข้อมูลหรือไม่
เสร็จแล้วคลิก Install WordPress
- เมื่อทำเสร็จก็จะเริ่มต้น Login เข้าใช้งาน WordPress ได้เลย
เรียนรู้วิธีใช้ WordPress
มาเรียนรู้การใช้งาน WordPress กันดีกว่าครับ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ตัวโปรแกรม WordPress จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
- WordPress Core จะเป็นส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการเว็บไซต์ บทความ เนื้อหาต่างๆ ในเว็บไซต์
- Theme จะเป็นส่วนของดีไซน์และการแสดงผลต่างๆ บนเว็บไซต์
- ปลั๊กอิน จะเป็นส่วนเพิ่มความสามารถให้กับการทำเว็บไซต์ เช่น ทำระบบจัดการสินค้า, ระบบคอนเทนต์, ระบบสร้างหน้าเว็บไซต์ ฯลฯ
ซึ่งการจัดการทั้งหมดคุณสามารถควบคุมได้ด้วยแดชบอร์ดที่ใช้งานง่าย อย่างรูปภาพด้านล่าง
จากแดชบอร์ดจะเห็นแถบเมนูอยู่ด้านซ้ายมือที่สามารถเรียกใช้งานได้ง่าย ซึ่งเราจะรีวิวส่วนสำคัญๆ ที่ใช้บ่อย ๆ แบบเฉพาะ ดังนี้
Post vs. Page
ส่วนแรกคือ การสร้างโพสต์ (Post) และการสร้างเพจ (Page) ซึ่งเป็นส่วนของการสร้างหน้าเว็บไซต์เหมือนกัน ทำให้คนสับสนได้ แต่ทั้งสองส่วนมีหน้าที่ต่างกันอยู่ คือ
- โพสต์ (Post)
โพสต์ (Post) คือ หน้าข้อมูลที่สามารถแบ่งตาม Category ได้ เช่น แบ่งตามสินค้า, เวลา, ประเภทความรู้ เป็นต้น โดยแสดงผลออกมาในสไตล์ของบล็อก โดยเรียงตามวันที่โพสต์ลง และจะดึงเอาโพสต์ล่าสุดไว้ด้านบนเสมอ
- เพจ (Page)
เพจ (Page) คือ หน้าที่เป็นเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ที่ทุกเว็บไซต์ต้องมี เช่น หน้าหลัก (Home), หน้าบริการ (Service), หน้าเกี่ยวกับเรา (About), หน้าติดต่อเรา (Contact) เป็นต้น
Media Library
Media Library คือ ระบบจัดการไฟล์มีเดียต่างๆ เช่น รูปภาพ วิดีโอ เสียง ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถทำการจัดหมวดหมู่ได้อย่างเป็นระบบด้วยการเพิ่ม Plug-in เข้ามาช่วยจัดการ
Themes และ Customizations
Themes และ Customizations คือ ส่วนของการจัดการหน้าตาของเว็บไซต์ เช่น ปรับสี, ปรับ Header, ปรับ Footer เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้ทั้งในรูปแบบฟรีและเสียเงิน
ขั้นตอนการสร้างโพสต์ด้วยตัวคุณเอง
เรียนรู้แดชบอร์ดและแถบเมนูสำคัญในเบื้องต้นกันไปแล้ว เรามาลองใช้งานส่วนสำคัญต่างๆ กันดีกว่า โดยเริ่มต้นกันที่การสร้างโพสต์หรือการสร้างบล็อกบน WordPress กันเลยครับ
วิธีการใช้ Block Editor
รู้จักหน้าตา Block Editor
ในการสร้างโพสต์เราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Block Editor ที่เป็นเครื่องมือในการเขียน โดยจะมีหน้าตา 2 รูปแบบให้เลือกใช้งาน นั่นก็คือ หน้าตาแบบ Editor แบบรูปด้านบน ซึ่งจะแสดงเป็นแถบเมนูต่างๆ ที่จะใช้จัดการตัวโพสต์ (หน้าตาที่เห็นดูคุ้นเคยเลยครับ เพราะเหมือนกับการที่เราเขียนงานต่างๆ ลงบน Google Doc หรือ microsoft word เลย) สำหรับหลายคนอาจจะเห็นหน้า Editor นี้ในเวอร์ชันของ Gutenberg ที่เป็น Editor ที่ผสมผสานกับความเป็น Page Builder อย่างรูปด้านล่าง
ส่วนอีกแบบจะเป็นหน้าตาแบบ UX Builder ที่เป็นการสร้างโพสต์โดยอิงจากหน้าตาเว็บไซต์ของคุณจริงๆ (แบบรูปด้านล่าง) โดยจะใช้วิธีการ Add Elelment ต่างๆ ลงไปในตัวโพสต์เป็นส่วนๆ
เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor
สำหรับการใช้งาน Block Editor ในที่นี้จะขอแนะนำในส่วนการใช้ตัว Gutenberg ที่เป็น Editor ใหม่ของ WordPress ให้รู้จักกัน โดยจะเน้นแถบเครื่องมือสำคัญๆ ดังนี้
- การตั้งชื่อบทความ
Gutenberg จะสร้าง Block Title และ Block เปล่าๆ มาให้อัตโนมัติ ให้คุณทำการใส่ชื่อบทความลงไปได้เลย ซึ่งชื่อนี้จะไปปรากฏในส่วนของ URL ด้วย แต่เราสามารถเข้าไปแก้ไขได้อีกที
- การทำ Heading
สำหรับการใส่ Heading คุณจะต้องทำการสร้าง Block Heading ขึ้นมาก่อนโดยการคลิกที่เครื่องหมาย +
หลังจากนั้นให้ทำการพิมพ์ Heading ลงไป แล้วเลือก Heading ที่คุณต้องการ รวมถึงจัดหน้ากระดาษของตัวหนังสือได้เลย
- การทำย่อหน้า
หากต้องการขึ้นย่อหน้าใหม่ ใน Gutenberg จะต้องทำการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Paragraph เข้ามาก่อนถึงจะทำการพิมพ์ย่อหน้าใหม่ได้
- ตกแต่งสีตัวอักษรและพื้นหลัง
ให้เข้าไปที่แถบเมนู color settings ด้านขวามือหลังจากนั้นเลือกเปลี่ยนสีตัวหนังสือและพื้นหลังของบล็อกได้เลย
- แถบเครื่องมืออื่นๆ ที่ควรรู้
นอกจากเครื่องมือหลักแล้ว Gutenberg จะมีแถบเครื่องมือยิบย่อยสำหรับใช้จัดการ Block แต่ละ Block แยกออกมาด้วย โดยแบ่งออกเป็น 7 เครื่องมือด้วยกันคือ
- Hide Block Settings ใช้สำหรับซ่อนแถบตั้งค่า
- Duplicate ทำสำเนา Block ที่เลือก
- Insert Before ใช้สำหรับแทรก Block ใหม่เอาไว้ก่อนหน้า Block ที่เลือก
- Insert After ใช้สำหรับแทรก Block ใหม่เอาไว้หลัง Block ที่เลือก
- Edit as HTML ใช้แก้ไข Html ให้ Block ที่เลือก
- Add to Reusable Blocks เพิ่ม Block ที่เลือกเพื่อนำไปใช้ซ้ำ
- Remove Block ลบ Block ที่เลือก
วิธีการทำบล็อกให้ดีต่อ SEO
หลังจากทำความรู้จักกับเครื่องมือหลักๆ ไปแล้วจะเห็นว่า ตัว Editor มีลูกเล่นสำหรับการตกแต่งหน้าโพสต์มากมาย ซึ่งก็ต้องอาศัยการเข้าไปลองใช้เป็นหลักนะครับ ถึงจะใช้งานได้คล่อง ส่วนต่อมาที่อยากให้ทุกคนลองทำกันคือ การทำบล็อกให้ดีกับการทำ SEO ซึ่งหลักการเขียน On-Page SEO ที่ผมเคยเขียนเอาไว้จะถูกหยิบมาใช้ในที่นี้ ลองเข้าไปอ่านกันเลยที่ On-Page SEO คืออะไร มีวิธีทำยังไงให้ติดอันดับ อัปเดตล่าสุด 2023
ส่วนเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการปรับแต่งหน้าโพสต์ให้ดีต่อ SEO คือ Yoast SEO ซึ่งผมแนะนำการใช้งานแบบละเอียดเอาไว้แล้วที่ Yoast SEO คืออะไร ทำความรู้จักตัวช่วยในการทำ SEO แบบละเอียด อ่านเพิ่มอีก 2 บทความนี้รับรองว่าช่วยให้คุณทำบล็อกเพื่อ SEO ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนเลยครับ
วิธีการตั้งค่า Theme เบื้องต้น
มาถึงส่วนสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของ Theme ที่เป็นเหมือนหน้าตาของเว็บไซต์ ซึ่งคุณหาเจอได้จากแถบเมนูที่ชื่อ Apperance แล้วคลิกที่ Themes มาดูกันครับว่ามีอะไรที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับส่วนนี้บ้าง
วิธีการเลือก Theme
ก่อนอื่นคุณควรทำความเข้าใจก่อนครับว่า Theme ที่สวยอาจไม่ใช่ Theme ที่ดีหรือเหมาะสมจะนำมาใช้งานเสมอไป ผมแนะนำให้คุณลองพิจารณาธีมต่างๆ ที่จะใช้ด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจเลือกนะครับ
- ดูยอดรีวิว ยอดวิว และยอดขาย
สำหรับใครที่จะซื้อธีมหรือเลือกใช้ธีมใดๆ แนะนำให้เช็กก่อนครับว่า ธีมนั้นมีรีวิวอย่างไร คนซื้อไปเขาพูดถึงธีมนี้ว่าอะไร มีคนซื้อไปใช้งานเยอะหรือเปล่า โดยเข้าไปยังแหล่งซื้อธีม เช่น Themeforest แล้วพิมพ์หาธีมที่ต้องการเพื่อดูคะแนนและรีวิวต่างๆ ได้เลย
- ธีมต้องมีการอัปเดตอยู่ตลอด
ควรเลือกซื้อธีมที่มีการอัปเดตอยู่ตลอด เพราะถ้าหากซื้อธีมที่ไม่มีการอัปเดตอาจถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ได้ง่าย ส่วนวิธีเช็กนั้นง่ายมาก หากคุณซื้อธีมจาก Themeforest ลองกดเข้าไปในธีมที่เลือก ดูที่ขวามือจะเห็นว่าธีมนั้นอัปเดตล่าสุดเมื่อไหร่
- ธีมต้องมี Layout ที่เข้ากับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
คุณรู้อยู่แล้วว่าเว็บไซต์ของคุณจะทำธุรกิจแบบไหน เช่น Blog, Business, E-Commerce ฯลฯ จึงควรเลือกธีมที่รองรับการทำเว็บไซต์ตามที่คุณต้องการเอาไว้ด้วย เพราะ Theme ที่เลือกมาจะเป็นเหมือนไกด์ให้กับคุณในการสร้างหรือ Custom หน้าต่างๆ ขึ้นมานั่นเอง
การ Custom ธีม
- ให้เข้าไปที่ Theme แล้วกดที่ Customize ในธีมที่คุณเลือกใช้
- คุณจะเจอกับแถบเครื่องมือที่ใช้ในการ Custom ตัวธีม ซึ่งคุณสามารถทำการ Custom ได้ทั้งหมด โดยแต่ละตัวมีรายละเอียดดังนี้
- Header : เป็นการปรับแต่ง Header ด้านบนของหน้าเว็บไซต์ เช่น logo, Top Bar, ปุ่มต่างๆ, Dropdowns Style ฯลฯ ทำให้แถบด้านบนของหน้าเว็บไซต์เป็นไปตามที่คุณต้องการมากขึ้น
- Style : จะเป็นการปรับพวกตัวหนังสือ สี ไปจนถึง Background ต่างๆ ของเว็บไซต์
- Blog : จะเป็นการปรับการแสดงผลของหน้า Blog เช่น จะให้เป็น layout การแสดงผลแบบไหน, ขึ้นหัวข้อหรือไม่ ฯลฯ
- WooCommerce : จะเป็นส่วนเสริมสำหรับเว็บไซต์ E-Commerce เช่น ใช้ปรับปรุงหน้าสินค้า, ทำแคตตาล็อกสินค้า เป็นต้น
- Layout : เลือกรูปแบบการแสดงผลของเว็บไซต์ เช่น ให้เป็นแบบเต็มหน้าจอ (Full width) หรือไม่ ฯลฯ
- Footer : เป็นการจัดการส่วน Footer ว่าอยากให้แสดงผลแบบไหน โดยการเพิ่มส่วนของ Footer ที่ต้องการเข้าไปเองได้เลย
- Pages : เป็นการเลือก Layout ในหน้าเพจว่าจะให้แสดงผลแบบไหน เช่น ให้เป็นแบบเต็มหน้าจอ (Full width) หรือไม่ ฯลฯ
- Portfolio : เลือกการแสดงผลให้หน้า Portfolio ว่าจะให้ออกมาเป็น Layout แบบไหน เช่น มี Header Background หรือไม่, เว้น Spacing เท่าไหร่ ฯลฯ
- Menus : ปรับแต่งส่วนเมนูของหน้าเว็บไซต์ทั้งหมด เช่น ให้เมนูไหนขึ้นมา อะไรมาก่อนมาหลัง
- Widgets : จะเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ที่แสดงบนเว็บไซต์ ซึ่งเราเลือก Custom ได้ เช่น text widget (แสดงข้อความ), image widget (แสดงรูปภาพ), product widget (แสดงสินค้า)
- Homepage Settings : เป็นการปรับแต่งหน้าดิสเพลย์ Homepage ว่าจะเป็น static page หรือไม่
- Share : เลือกว่าจะแชร์ไปยังช่องทาง Social Media ต่างๆ ในช่องทางไหนบ้าง พร้อมเลือกลักษณะของไอคอนที่แสดงได้ด้วย
วิธีการใช้งานปลั๊กอิน WordPress
ปลั๊กอิน (Plug-in) คืออะไร
ปลั๊กอิน (Plug-in) คือ สิ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ WordPress ให้ดีขึ้น โดยคุณสามารถเลือกติดตั้งปลั๊กอินได้ทั้งในเวอร์ชันฟรีและเสียเงินเลย โดยเข้าไปที่แถบเมนู Plugins >> เลือก Add New >> หลังจากนั้นกดค้นหา Plugin ที่ต้องการ >> กด Install Now เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย
ปลั๊กอิน (Plug-in) ที่ควรรู้จัก
- SEO plugins
จะเป็น Plug-in ที่ใช้สำหรับการทำ SEO เป็นหลัก โดยจะใช้งานได้หลากหลาย เช่น ใช้ในการดูว่าการปรับ On-Page SEO ดีหรือยัง พร้อมมีคำแนะนำในการปรับแต่งให้ครบ เช่น Yoast SEO, All in One SEO for WordPress, SEOPress เป็นต้น
- Security plugins
จะเป็น Plug-in ที่ใช้สำหรับสร้างความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์ ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ใช้สแกนหา Malware, ป้องกันแฮกเกอร์ ฯลฯ ยกตัวอย่างปลั๊กอินที่ใช้บ่อย เช่น Wordfence, iThemes Security, All In One WP Security & Firewall เป็นต้น
- Performance plugins
จะเป็น Plug-in ที่ช่วยปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดีขึ้น เช่น แก้ความเร็วเว็บไซต์, ปรับขนาดรูปภาพ, แก้ CSS ฯลฯ ยกตัวอย่างปลั๊กอินที่ใช้บ่อย เช่น WP Rocket, Nitropack เป็นต้น
สรุป
WordPress คือ CMS ที่ช่วยให้คนเขียนโค้ดไม่เป็นสามารถทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ ด้วยการใช้งาน Element ต่างๆ ของ WordPress ในการ Custom หน้าตาเว็บไซต์, โพสต์, เพจต่างๆ ให้ออกมาสวยงามดังใจผ่าน Theme สวยๆ ที่คุณก็สามารถเลือกใช้งานได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเว็บไซต์เหมือนกับการติดอาวุธเพิ่มเติมให้เว็บด้วยการติดตั้ง Plugins เข้ามาในเว็บไซต์ได้ด้วย WordPress จึงเป็นเครื่องมือสำหรับทำเว็บไซต์ยอดนิยมของหลายๆ คน และที่สำคัญยังเป็นมิตรกับการทำ SEO ด้วย ผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนลองใช้ CMS ตัวนี้ดูครับ รับรองว่ามีประโยชน์จริงๆ