WordPress คืออะไร แนะนำตัวช่วยทำเว็บไซต์ เขียนโค้ดไม่เป็นก็มีเว็บได้!

WordPress คืออะไร แนะนำตัวช่วยทำเว็บไซต์ เขียนโค้ดไม่เป็นก็มีเว็บได้!

ใครที่มีแพลนอยากจะทำเว็บไซต์ แต่ไม่ได้มีความรู้ในการเขียนโค้ดเองฟังทางนี้ ในปัจจุบันไม่ต้องลงมือเขียนเว็บไซต์เองแล้ว เพราะเรามีตัวช่วยในการทำเว็บไซต์อย่าง “WordPress” ว่าแต่…WordPress คืออะไร มีข้อดีแบบไหน และจะสมัครใช้งานอย่างไร วันนี้ NerdOptimize ของเราที่ใช้ WodPress ในการทำ SEO อยู่บ่อยๆ จะมาบอกถึงขั้นตอนการใช้งานแบบละเอียดให้ได้ฟังกันครับ!

WordPress คืออะไร

WordPress คืออะไร

ที่มาภาพ: www.hostinger.com

WordPress คือ โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการสร้างเว็บไซต์ที่เรียกกันว่า Content Management System หรือย่อสั้นๆ เป็นคำว่า CMS ที่คนอยากทำเว็บไซต์สามารถลงมือสร้างเว็บไซต์ที่มีระบบสร้างคอนเทนต์ เติมบทความ ลงรูปภาพและวิดีโอ ไปจนถึงทำระบบจัดการข้อมูลหรือสินค้าได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนโค้ดเองให้เสียเวลา โดยคุณสามารถใช้งาน WordPress ได้ 2 แบบ ได้แก่ WordPress.org และ WordPress.com

WordPress.org ต่างกับ WordPress.com อย่างไร

  • WordPress.org ที่เป็น Open-source ที่สามารถเข้ามาสร้างและใช้งานได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดตั้ง Plug-in รวมถึง Theme เองได้ และสามารถทำเว็บไซต์ได้หลากหลายรูปแบบ แต่ต้องเชื่อมต่อทำฐานข้อมูลเองทั้งหมด
  • WordPress.com ที่เป็นการสร้างเว็บไซต์ในสไตล์การทำ Blog ที่ไม่จำเป็นต้องมี Domain หรือ host ก็สามารถทำเว็บไซต์ขึ้นมาได้ พร้อมทำการอัปเดตเวอร์ชันแพลตฟอร์มให้โดยอัตโนมัติ

ใช้ WordPress ดียังไง 

สำหรับข้อดีของการใช้ WordPress นั้นมีหลายอย่าง (ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นที่นิยมไปทั่วทั้งโลก) ซึ่งเราจะขอรวบรวมประโยชน์หลักๆ มาให้ ดังนี้

  • WordPress สามารถใช้งานได้ฟรี

คุณสามารถติดตั้งและใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฟรีไปซะหมดนะครับ เพราะการทำเว็บไซต์ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่ เช่น การซื้อชื่อโดเมน, การซื้อ Plug-in, การซื้อ Theme เป็นต้น

  • มีฟีเจอร์ให้เลือกใช้งานหลากหลาย

WordPress มีฟีเจอร์ที่ให้คุณสามารถเพิ่มตัวเลือก Extensions และ Plugins ที่จำเป็นให้เลือกใช้งานที่หลากหลาย ทำให้สามารถปรับปรุงเว็บไซต์ได้ตามที่ต้องการ 

  • ใช้ทำ SEO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากใช้ WordPress เพื่อทำ SEO นั้นเหมาะเป็นอย่างมาก เพราะมี Plugins ที่ช่วยสนับสนุนในการทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Yoast SEO เป็นต้น  จึงมักมีอันดับที่สูงกว่าเว็บไซต์อื่นเนื่องจากเป็นมิตรกับการทำ SEO นั่นเอง

  • ใช้งานได้อย่างสะดวกจากการมีแถบเครื่องมือที่เข้าใจง่าย

แม้เป็นมือใหม่ก็สามารถดูแลเว็บไซต์บน WordPress ได้ง่าย เพราะ WordPress มีแถบเครื่องมือที่ให้เลือกใช้ได้ง่าย ทำให้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

WordPress สมัครยังไง

สำหรับใครที่ต้องการเริ่มต้นใช้งาน WordPress ให้ทำตามวิธีการสมัครการใช้งานได้เลย ดังนี้

  1. เลือกซื้อโดเมน

การที่คุณจะมีเว็บไซต์ได้อย่างแรกให้ทำการเลือกซื้อโดเมนหรือซื้อชื่อของเว็บไซต์จากบริษัทรับจดโดเมนที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น Hostatom, GoDaddy, Namecheap เป็นต้น ซึ่งการจดชื่อโดเมนควรมีหลักการตั้งชื่อที่ดี และนำไปใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ควรตั้งชื่อโดเมนให้กระชับ สั้น และเข้าใจง่าย
  • ไม่ตั้งชื่อซ้ำกับแบรนด์ใหญ่ๆ หรือสินค้าอื่นที่มีในตลาด
  • ไม่ควรจดชื่อด้วยคำ Keyword ตรงๆ 
  • ควรตั้งชื่อโดเมนเป็นภาษาอังกฤษ
  • อย่าตั้งชื่อโดเมนที่สะกดหรือพิมพ์ยาก
  • อย่าใช้นามสกุลของโดเมนที่ดูแปลกตาจนเกินไป เช่น ใช้นามสกุล .com เป็นต้น
  1. เลือกใช้ Hosting

การเลือกใช้ Hosting เองก็มีความสำคัญ เพราะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้ดี โดยหลักการเลือกใช้ Hosting จะมีอะไรบ้าง ดูได้ด้านล่างนี้เลยครับ

  • หากคุณเพิ่งเริ่มต้นทำเว็บไซต์สามารถเลือกใช้ Hosting ไทยได้ เช่น  Hostatom, Rukcom ฯลฯ เพราะเป็นโฮสติ้งที่เราสามารถพูดคุยรู้เรื่องได้ง่าย นอกจากนี้ การเลือก Hosting ที่ตั้งอยู่ในประเทศ ยังช่วยให้ผู้ใช้เว็บไซต์เข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า ไม่ต้องวิ่งไปหาข้อมูลที่ต่างประเทศ
  • ดูว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ประเภทไหน เช่น หาเป็นเว็บบล็อกที่มีผู้ใช้งานไม่มาก ก็สามารถเลือกใช้บริการ Shared Hosting ได้ เป็นต้น
  • เลือกขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้เพียงพอกับขนาดเว็บไซต์ที่ทำ เช่น Disk (พื้นที่), Bandwidth (ปริมาณรับส่งข้อมูล), จำนวนอีเมล, จำนวนฐานข้อมูลที่ใช้ได้ เป็นต้น
  • เลือกฟีเจอร์และระบบการจัดการเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ดูว่ามีระบบสำรองข้อมูลในกรณีที่เซิร์ฟเวอร์เกิดปัญหามีประสิทธิภาพแค่ไหน เป็นต้น
  • มีบริการก่อนและหลังการขายที่ดี เช่น ถาม-ตอบเร็ว มีช่องทางในการติดต่อที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน เวลาที่มีปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
  • ควรเป็น Hosting ที่มีราคาสมเหตุสมผล ไม่ถูกจนเกินไปหรือแพงจนเกินไป
  1. สมัครและติดตั้ง WordPress

แนะนำวิธีการติดตั้ง WordPress แบบ Manual ทำได้ง่ายๆ ดังนี้

สมัครและติดตั้ง WordPress
  1. เริ่มต้นโดยการดาวน์โหลดโปรแกรม WordPress .zip หรือ .tar.gz ที่ https://wordpress.org/download/
  2. นำไฟล์ที่ดาวน์โหลดขึ้นไปยัง Hosting ที่สมัครมาแล้ว โดยมีวิธีการให้เลือกใช้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
    1. ใช้โปรแกรม FTP ในการอัปโหลดข้อมูล
    2. จัดการข้อมูลผ่านระบบจัดการ Control Panel Hosting
  3. ดำเนินการ Extract File ที่ดาวน์โหลดมา
  4. สร้าง MySQL Database และ Database User เพื่อใช้เป็นข้อมูลระหว่างทำขั้นตอน Install WordPress
  5. เปิดบราวเซอร์ เช่น GoogleChrome ในส่วน URL  พิมพ์ชื่อ DomainName ตัวอย่าง เช่น http://www.domainname/wp-admin/install.php เลือกภาษาที่ต้องการ แล้วกด Continue
สมัครและติดตั้ง WordPress เลือกภาษาที่ต้องการ
  1. หลังจากนั้นจะมีหน้าให้กรอกรายละเอียดเพิ่มเติม โดยให้คุณใส่รายละเอียดเหล่านี้ลงไป
    1. Site Title : ให้ใส่ชื่อเว็บไซต์
    2. Username : ให้ตั้ง Username ที่ใช้ Login เข้า WordPress
    3. Password : ให้ตั้ง Password ที่ใช้ Login เข้า WordPress
    4. Your E-Mail : ใส่อีเมลของคุณ
    5.  Privacy : ส่วนนี้จะเป็นการอนุญาตให้ Search Engine เข้ามาเก็บข้อมูลหรือไม่

เสร็จแล้วคลิก Install WordPress

สมัครและติดตั้ง WordPress กรอกรายละเอียดเพิ่มเติม
  1. เมื่อทำเสร็จก็จะเริ่มต้น Login เข้าใช้งาน WordPress ได้เลย

เรียนรู้วิธีใช้ WordPress

มาเรียนรู้การใช้งาน WordPress กันดีกว่าครับ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ตัวโปรแกรม WordPress จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ

  • WordPress Core จะเป็นส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการเว็บไซต์ บทความ เนื้อหาต่างๆ ในเว็บไซต์
  • Theme จะเป็นส่วนของดีไซน์และการแสดงผลต่างๆ บนเว็บไซต์
  • ปลั๊กอิน จะเป็นส่วนเพิ่มความสามารถให้กับการทำเว็บไซต์ เช่น ทำระบบจัดการสินค้า, ระบบคอนเทนต์, ระบบสร้างหน้าเว็บไซต์ ฯลฯ

ซึ่งการจัดการทั้งหมดคุณสามารถควบคุมได้ด้วยแดชบอร์ดที่ใช้งานง่าย อย่างรูปภาพด้านล่าง

เรียนรู้วิธีใช้ WordPress

จากแดชบอร์ดจะเห็นแถบเมนูอยู่ด้านซ้ายมือที่สามารถเรียกใช้งานได้ง่าย ซึ่งเราจะรีวิวส่วนสำคัญๆ ที่ใช้บ่อย ๆ แบบเฉพาะ ดังนี้

Post vs. Page

Post vs. Page

ส่วนแรกคือ การสร้างโพสต์ (Post) และการสร้างเพจ (Page) ซึ่งเป็นส่วนของการสร้างหน้าเว็บไซต์เหมือนกัน ทำให้คนสับสนได้ แต่ทั้งสองส่วนมีหน้าที่ต่างกันอยู่ คือ

  • โพสต์ (Post)
Post vs. Page แบบ โพสต์ (Post)

โพสต์ (Post) คือ หน้าข้อมูลที่สามารถแบ่งตาม Category ได้ เช่น แบ่งตามสินค้า, เวลา, ประเภทความรู้ เป็นต้น โดยแสดงผลออกมาในสไตล์ของบล็อก โดยเรียงตามวันที่โพสต์ลง และจะดึงเอาโพสต์ล่าสุดไว้ด้านบนเสมอ

  • เพจ (Page)
Post vs. Page แบบ เพจ (Page)

เพจ (Page) คือ หน้าที่เป็นเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ที่ทุกเว็บไซต์ต้องมี เช่น หน้าหลัก (Home), หน้าบริการ (Service), หน้าเกี่ยวกับเรา (About), หน้าติดต่อเรา (Contact) เป็นต้น

  • Media Library

Media Library

Media Library คือ ระบบจัดการไฟล์มีเดียต่างๆ เช่น รูปภาพ วิดีโอ เสียง ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถทำการจัดหมวดหมู่ได้อย่างเป็นระบบด้วยการเพิ่ม Plug-in เข้ามาช่วยจัดการ

  • Themes และ Customizations

Themes และ Customizations

Themes และ Customizations คือ ส่วนของการจัดการหน้าตาของเว็บไซต์ เช่น ปรับสี, ปรับ Header, ปรับ Footer เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้ทั้งในรูปแบบฟรีและเสียเงิน

ขั้นตอนการสร้างโพสต์ด้วยตัวคุณเอง

เรียนรู้แดชบอร์ดและแถบเมนูสำคัญในเบื้องต้นกันไปแล้ว เรามาลองใช้งานส่วนสำคัญต่างๆ กันดีกว่า โดยเริ่มต้นกันที่การสร้างโพสต์หรือการสร้างบล็อกบน WordPress กันเลยครับ

วิธีการใช้ Block Editor

  • รู้จักหน้าตา Block Editor

ขั้นตอนการสร้างโพสต์ด้วยตัวคุณเอง

ในการสร้างโพสต์เราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Block Editor ที่เป็นเครื่องมือในการเขียน โดยจะมีหน้าตา 2 รูปแบบให้เลือกใช้งาน นั่นก็คือ หน้าตาแบบ Editor แบบรูปด้านบน ซึ่งจะแสดงเป็นแถบเมนูต่างๆ ที่จะใช้จัดการตัวโพสต์ (หน้าตาที่เห็นดูคุ้นเคยเลยครับ เพราะเหมือนกับการที่เราเขียนงานต่างๆ ลงบน Google Doc หรือ microsoft word เลย) สำหรับหลายคนอาจจะเห็นหน้า Editor นี้ในเวอร์ชันของ Gutenberg ที่เป็น Editor ที่ผสมผสานกับความเป็น Page Builder อย่างรูปด้านล่าง

​​

ขั้นตอนการสร้างโพสต์ด้วยตัวคุณเอง วิธีการใช้ Block Editor

ส่วนอีกแบบจะเป็นหน้าตาแบบ UX Builder ที่เป็นการสร้างโพสต์โดยอิงจากหน้าตาเว็บไซต์ของคุณจริงๆ (แบบรูปด้านล่าง) โดยจะใช้วิธีการ Add Elelment ต่างๆ ลงไปในตัวโพสต์เป็นส่วนๆ 

วิธีการใช้ Block Editor รู้จักหน้าตา Block Editor
  • เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor

สำหรับการใช้งาน Block Editor ในที่นี้จะขอแนะนำในส่วนการใช้ตัว Gutenberg ที่เป็น Editor ใหม่ของ WordPress ให้รู้จักกัน โดยจะเน้นแถบเครื่องมือสำคัญๆ ดังนี้

  1. การตั้งชื่อบทความ
เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor การตั้งชื่อบทความ

Gutenberg จะสร้าง Block Title และ Block เปล่าๆ มาให้อัตโนมัติ ให้คุณทำการใส่ชื่อบทความลงไปได้เลย ซึ่งชื่อนี้จะไปปรากฏในส่วนของ URL ด้วย แต่เราสามารถเข้าไปแก้ไขได้อีกที

  1. การทำ Heading
เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor การทำ Heading

สำหรับการใส่ Heading คุณจะต้องทำการสร้าง Block Heading ขึ้นมาก่อนโดยการคลิกที่เครื่องหมาย + 

การทำ Heading สร้าง Block Heading

หลังจากนั้นให้ทำการพิมพ์ Heading ลงไป แล้วเลือก Heading ที่คุณต้องการ รวมถึงจัดหน้ากระดาษของตัวหนังสือได้เลย

  1. การทำย่อหน้า
เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor การทำย่อหน้า

หากต้องการขึ้นย่อหน้าใหม่ ใน Gutenberg จะต้องทำการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Paragraph เข้ามาก่อนถึงจะทำการพิมพ์ย่อหน้าใหม่ได้

  • ตกแต่งสีตัวอักษรและพื้นหลัง
เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor ตกแต่งสีตัวอักษรและพื้นหลัง

ให้เข้าไปที่แถบเมนู color settings ด้านขวามือหลังจากนั้นเลือกเปลี่ยนสีตัวหนังสือและพื้นหลังของบล็อกได้เลย

  • แถบเครื่องมืออื่นๆ ที่ควรรู้
เรียนรู้เครื่องมือและการใช้งานของ Block Editor แถบเครื่องมืออื่นๆ ที่ควรรู้

นอกจากเครื่องมือหลักแล้ว Gutenberg จะมีแถบเครื่องมือยิบย่อยสำหรับใช้จัดการ Block แต่ละ Block แยกออกมาด้วย โดยแบ่งออกเป็น 7 เครื่องมือด้วยกันคือ

  • Hide Block Settings ใช้สำหรับซ่อนแถบตั้งค่า
  • Duplicate ทำสำเนา Block ที่เลือก
  • Insert Before ใช้สำหรับแทรก Block ใหม่เอาไว้ก่อนหน้า Block ที่เลือก
  • Insert After ใช้สำหรับแทรก Block ใหม่เอาไว้หลัง Block ที่เลือก
  • Edit as HTML ใช้แก้ไข Html ให้ Block ที่เลือก 
  • Add to Reusable Blocks เพิ่ม Block ที่เลือกเพื่อนำไปใช้ซ้ำ 
  • Remove Block ลบ Block ที่เลือก

วิธีการทำบล็อกให้ดีต่อ SEO

หลังจากทำความรู้จักกับเครื่องมือหลักๆ ไปแล้วจะเห็นว่า ตัว Editor มีลูกเล่นสำหรับการตกแต่งหน้าโพสต์มากมาย ซึ่งก็ต้องอาศัยการเข้าไปลองใช้เป็นหลักนะครับ ถึงจะใช้งานได้คล่อง ส่วนต่อมาที่อยากให้ทุกคนลองทำกันคือ การทำบล็อกให้ดีกับการทำ SEO ซึ่งหลักการเขียน On-Page SEO ที่ผมเคยเขียนเอาไว้จะถูกหยิบมาใช้ในที่นี้ ลองเข้าไปอ่านกันเลยที่ On-Page SEO คืออะไร มีวิธีทำยังไงให้ติดอันดับ อัปเดตล่าสุด 2023

ส่วนเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการปรับแต่งหน้าโพสต์ให้ดีต่อ SEO คือ Yoast SEO ซึ่งผมแนะนำการใช้งานแบบละเอียดเอาไว้แล้วที่ Yoast SEO คืออะไร ทำความรู้จักตัวช่วยในการทำ SEO แบบละเอียด อ่านเพิ่มอีก 2 บทความนี้รับรองว่าช่วยให้คุณทำบล็อกเพื่อ SEO ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนเลยครับ 

วิธีการตั้งค่า Theme เบื้องต้น

มาถึงส่วนสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของ Theme ที่เป็นเหมือนหน้าตาของเว็บไซต์ ซึ่งคุณหาเจอได้จากแถบเมนูที่ชื่อ Apperance แล้วคลิกที่ Themes มาดูกันครับว่ามีอะไรที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับส่วนนี้บ้าง 

วิธีการตั้งค่า Theme เบื้องต้น

วิธีการเลือก Theme

ก่อนอื่นคุณควรทำความเข้าใจก่อนครับว่า Theme ที่สวยอาจไม่ใช่ Theme ที่ดีหรือเหมาะสมจะนำมาใช้งานเสมอไป ผมแนะนำให้คุณลองพิจารณาธีมต่างๆ ที่จะใช้ด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจเลือกนะครับ

  • ดูยอดรีวิว ยอดวิว และยอดขาย

สำหรับใครที่จะซื้อธีมหรือเลือกใช้ธีมใดๆ แนะนำให้เช็กก่อนครับว่า ธีมนั้นมีรีวิวอย่างไร คนซื้อไปเขาพูดถึงธีมนี้ว่าอะไร มีคนซื้อไปใช้งานเยอะหรือเปล่า โดยเข้าไปยังแหล่งซื้อธีม เช่น Themeforest แล้วพิมพ์หาธีมที่ต้องการเพื่อดูคะแนนและรีวิวต่างๆ ได้เลย

วิธีการเลือก Theme ดูยอดรีวิว ยอดวิว และยอดขาย
  • ธีมต้องมีการอัปเดตอยู่ตลอด

ควรเลือกซื้อธีมที่มีการอัปเดตอยู่ตลอด เพราะถ้าหากซื้อธีมที่ไม่มีการอัปเดตอาจถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ได้ง่าย ส่วนวิธีเช็กนั้นง่ายมาก หากคุณซื้อธีมจาก Themeforest ลองกดเข้าไปในธีมที่เลือก ดูที่ขวามือจะเห็นว่าธีมนั้นอัปเดตล่าสุดเมื่อไหร่

วิธีการเลือก Theme ธีมต้องมีการอัปเดตอยู่ตลอด
  • ธีมต้องมี Layout ที่เข้ากับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์

คุณรู้อยู่แล้วว่าเว็บไซต์ของคุณจะทำธุรกิจแบบไหน เช่น Blog, Business, E-Commerce ฯลฯ จึงควรเลือกธีมที่รองรับการทำเว็บไซต์ตามที่คุณต้องการเอาไว้ด้วย เพราะ Theme ที่เลือกมาจะเป็นเหมือนไกด์ให้กับคุณในการสร้างหรือ Custom หน้าต่างๆ ขึ้นมานั่นเอง

การ Custom ธีม

  • ให้เข้าไปที่ Theme แล้วกดที่ Customize ในธีมที่คุณเลือกใช้
การ Custom ธีม
  • คุณจะเจอกับแถบเครื่องมือที่ใช้ในการ Custom ตัวธีม ซึ่งคุณสามารถทำการ Custom ได้ทั้งหมด โดยแต่ละตัวมีรายละเอียดดังนี้
รายละเอียด การ Custom ธีม
  • Header : เป็นการปรับแต่ง Header ด้านบนของหน้าเว็บไซต์ เช่น logo, Top Bar, ปุ่มต่างๆ, Dropdowns Style ฯลฯ ทำให้แถบด้านบนของหน้าเว็บไซต์เป็นไปตามที่คุณต้องการมากขึ้น
  • Style : จะเป็นการปรับพวกตัวหนังสือ สี ไปจนถึง Background ต่างๆ ของเว็บไซต์
  • Blog : จะเป็นการปรับการแสดงผลของหน้า Blog เช่น จะให้เป็น layout การแสดงผลแบบไหน, ขึ้นหัวข้อหรือไม่ ฯลฯ
  • WooCommerce : จะเป็นส่วนเสริมสำหรับเว็บไซต์ E-Commerce เช่น ใช้ปรับปรุงหน้าสินค้า, ทำแคตตาล็อกสินค้า เป็นต้น
  • Layout : เลือกรูปแบบการแสดงผลของเว็บไซต์ เช่น ให้เป็นแบบเต็มหน้าจอ (Full width) หรือไม่ ฯลฯ
  • Footer : เป็นการจัดการส่วน Footer ว่าอยากให้แสดงผลแบบไหน โดยการเพิ่มส่วนของ Footer ที่ต้องการเข้าไปเองได้เลย
  • Pages : เป็นการเลือก Layout ในหน้าเพจว่าจะให้แสดงผลแบบไหน เช่น ให้เป็นแบบเต็มหน้าจอ (Full width) หรือไม่ ฯลฯ
  • Portfolio : เลือกการแสดงผลให้หน้า Portfolio ว่าจะให้ออกมาเป็น Layout แบบไหน เช่น มี Header Background หรือไม่, เว้น Spacing เท่าไหร่ ฯลฯ 
  • Menus : ปรับแต่งส่วนเมนูของหน้าเว็บไซต์ทั้งหมด เช่น ให้เมนูไหนขึ้นมา อะไรมาก่อนมาหลัง
  • Widgets : จะเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ที่แสดงบนเว็บไซต์ ซึ่งเราเลือก Custom ได้ เช่น text widget (แสดงข้อความ), image widget (แสดงรูปภาพ), product widget (แสดงสินค้า)
  • Homepage Settings : เป็นการปรับแต่งหน้าดิสเพลย์ Homepage ว่าจะเป็น static page หรือไม่
  • Share : เลือกว่าจะแชร์ไปยังช่องทาง Social Media ต่างๆ ในช่องทางไหนบ้าง พร้อมเลือกลักษณะของไอคอนที่แสดงได้ด้วย

วิธีการใช้งานปลั๊กอิน WordPress

ปลั๊กอิน (Plug-in) คืออะไร

ปลั๊กอิน (Plug-in) คือ สิ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ WordPress ให้ดีขึ้น โดยคุณสามารถเลือกติดตั้งปลั๊กอินได้ทั้งในเวอร์ชันฟรีและเสียเงินเลย โดยเข้าไปที่แถบเมนู Plugins >> เลือก Add New >> หลังจากนั้นกดค้นหา Plugin ที่ต้องการ >> กด Install Now เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

วิธีการใช้งานปลั๊กอิน WordPress ปลั๊กอิน (Plug-in) คืออะไร

ปลั๊กอิน (Plug-in) ที่ควรรู้จัก

  • SEO plugins 

จะเป็น Plug-in ที่ใช้สำหรับการทำ SEO เป็นหลัก โดยจะใช้งานได้หลากหลาย เช่น ใช้ในการดูว่าการปรับ On-Page SEO ดีหรือยัง พร้อมมีคำแนะนำในการปรับแต่งให้ครบ เช่น Yoast SEO, All in One SEO for WordPress, SEOPress เป็นต้น 

  • Security plugins 

จะเป็น Plug-in ที่ใช้สำหรับสร้างความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์ ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ใช้สแกนหา Malware, ป้องกันแฮกเกอร์ ฯลฯ ยกตัวอย่างปลั๊กอินที่ใช้บ่อย เช่น Wordfence, iThemes Security, All In One WP Security & Firewall เป็นต้น

  • Performance plugins

จะเป็น Plug-in ที่ช่วยปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดีขึ้น เช่น แก้ความเร็วเว็บไซต์, ปรับขนาดรูปภาพ, แก้ CSS ฯลฯ ยกตัวอย่างปลั๊กอินที่ใช้บ่อย เช่น WP Rocket, Nitropack เป็นต้น

สรุป

WordPress คือ CMS ที่ช่วยให้คนเขียนโค้ดไม่เป็นสามารถทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ ด้วยการใช้งาน Element ต่างๆ ของ WordPress ในการ Custom หน้าตาเว็บไซต์, โพสต์, เพจต่างๆ ให้ออกมาสวยงามดังใจผ่าน Theme สวยๆ ที่คุณก็สามารถเลือกใช้งานได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเว็บไซต์เหมือนกับการติดอาวุธเพิ่มเติมให้เว็บด้วยการติดตั้ง Plugins เข้ามาในเว็บไซต์ได้ด้วย WordPress  จึงเป็นเครื่องมือสำหรับทำเว็บไซต์ยอดนิยมของหลายๆ คน และที่สำคัญยังเป็นมิตรกับการทำ SEO ด้วย ผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนลองใช้ CMS ตัวนี้ดูครับ รับรองว่ามีประโยชน์จริงๆ

ผู้เขียน

Picture of NerdOptimize Team
NerdOptimize Team

Tags:

แชร์บทความนี้:

บทความที่คุณ อาจสนใจ

Content Pillar
SEO

Content Pillar กลยุทธ์สร้างคอนเทนต์ นำเสนอเนื้อหาถูกใจทั้ง User และ Algorithm

Content Pillar คือ หัวข้อหรือประเด็นหลักที่แบรนด์ต้องการเสนอให้กับเป้าหมาย เพื่อความเข้าใจง่าย และสามารถรับข้อมูลที่ตรงต่อความต้องการได้สะดวก

อ่านบทความ ➝
Digital Agency คือ
SEO

Digital Agency คือเบื้องหลังสู่ความสำเร็จขององค์กรคุณ

Digital Agency คือทางลัดสู่ความสำเร็จของการตลาดออนไลน์ ให้บริการทำการตลาดออนไลน์ด้วยผู้เชี่ยวชาญ วางแผนกลยุทธ์โดยคำนึงถึงเป้าหมายขององค์กร

อ่านบทความ ➝
conversion คือ
SEO

Conversion คืออะไร พร้อมแนะนำวิธีเพิ่ม Conversion Rate ที่สำคัญกับธุรกิจออนไลน์!

Conversion คือการโต้ตอบ หรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ลูกค้าทำเมื่อเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นการกดคลิก การสมัครแบบฟอร์ม การกดสั่งซื้อ หรือการกดจองสินค้า

อ่านบทความ ➝

รับส่วนลดซื้อคอร์สครั้งแรก สอบถามเรื่องเรียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ สามารถศึกษา นโยบายความเป็นส่วนตัว และจัดการความเป็นส่วนตัว ได้ที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    Cookies Details

บันทึกการตั้งค่า